Popular Posts

Friday, November 30, 2018

(Mobile version) เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2 บนเส้นทางที่ เลือกเอง - ตอนที่ 1 - จะหยุดหรือจะไปต่อ


ความเดิมจาก EP ที่แล้ว
 
ผมเกษียณตัวเองออกมาทำสวนเพื่อใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง ในวันที่อายุยังไม่ถึง 30 โชคดีที่ครอบครัวมีที่ดินพร้อมสวนมังคุดอยู่แล้วผมจึงมารับช่วงต่อโดยมีญาติเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นหุ้นส่วนในปีแรก ไม่นานนักผมก็พบว่าตัวเองติดอยู่ในกับดักของการทำเกษตรเชิงเคมีเชิงพาณิชย์ และกำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวเงินเก็บของผมแทบจะไม่เหลือ และกำลังตัดสินใจว่าจะเลิกทำสวน หรือจะทำสวนต่อตามแนวทางที่ผมเลือกเอง
**********************************
เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2  บนเส้นทางที่ เลือกเอง - ตอนที่ 1 - จะหยุดหรือจะไปต่อ
การเก็บมังคุดสิ้นสุดลงกลางฤดูฝนปี ๒๕๕๕ ผมเริ่มงานต่อไปทันทีซึ่งก็คือการปลูกป่า (ไม้เนื้อแข็ง กฤษณา และยางพารา) ในพื้นที่อีกประมาณ 20 ไร่ในสวน จะว่าไปตอนนั้นผมก็ยังไม่ในแน่ใจในอนาคตของผมที่นี่  ผมเองก็ยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะจัดการสวนอย่างไรในปีหน้า ในวันที่จะต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองเพียงลำพัง ในเวลานั้นคิดเพียงอย่างเดียวคือจะปลูกป่า ผมอยากปลูกไม้เนื้อแข็ง เช่น พะยูง แดง มะค่า ฯลฯ ในขณะที่พ่ออยากให้ผมให้ปลูกยางพารา ส่วนญาติก็แนะนำให้ปลูกไม้ที่สามารถตัดได้โดยไม่ต้องรอเป็นสิบ ๆ ปี แซมลงไปด้วย ซึ่งก็คือกฤษณา ญาติที่เป็นนักวิชาการจึงแนะนำให้ทำเป็นแปลงสวนผสมที่นำไม้เนื้อแข็ง ยางพารา และกฤษณามา featuring กัน โดยมีวิธีการคือ แถวที่ ๑ ปลูกยางพาราอย่างเดียว เพื่อให้เวลากรีดไม่สับสนและไม่ต้องเดินไกล แถวที่ ๒ ปลูกไม้เนื้อแข็งสลับกับไม้กฤษณา โดยจะปลูกไม้เนื้อแข็ง ๑ ต้น แล้วปลูกกฤษณา ๒ ต้น แล้วก็กลับมาปลูกไม้เนื้อแข็งอีกครั้ง พอแถวที่ ๓ ก็กลับมาเริ่มแถวยางแล้วก็ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แนวคิดของการปลูกแบบนี้ก็คือ จะใช้ประโยชน์จากไม้ที่โตเร็ว (ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน) ก่อน แล้วเก็บไม้เนื้อแข็งซึ่งโตช้ากว่าเอาไว้ใช้ท้ายสุด 
กฤษณาเป็นไม้ที่โตเร็วจะถูกตัดก่อน ตอนนั้นประเมินว่าภายในปีที่ ๕ เราน่าจะสามารถนำกฤษณามาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ผมจะมีรายได้ก้อนแรก เมื่อกฤษณาถูกตัด ต้นยางและไม้เนื้อแข็งก็จะได้รับแสงมากขึ้นทำให้เติบโตได้ดีขึ้น พอถึงปีที่ ๗ ก็จะเริ่มกรีดยางได้ ผมจะมีรายได้เรื่อย ๆ  ไม่ต้องกังวลว่าไม้เนื้อแข็งจะบังแสงที่สะส่องถึงต้นยางเพราะต้นยางโตเร็วกว่า และภายในปีที่ ๓๐ ต้นยางจะหมดอายุกรีด ผมก็จะโค่นต้นยางออกทั้งหมด แล้วจะได้เงินก้อนจากการขายไม้ ส่วนไม้เนื้อแข็งก็จะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เพราะปลูกอยู่คนละแถว และสวนก็จะไม้ร้อนแล้งเพราะป่านนั้นไม่ป่าก็จะต้นใหญ่มากและเมื่อไม่มีต้นยาง มันก็จะสามารถแผ่กิ่งก้านออกไปได้อีก ผมเห็นด้วยตามนั้นและเตรียมปักหลักเพื่อกำหนดตำแหน่งการปลูกทันที 
 
 
(ด้วยความเป็น Perfectionism ตัวพ่อ หลักไม้ของผมตรงมากถึงมากที่สุด ผมพอใจมากจนต้องไปเอากล้องมาถ่ายรูปเก็บไว้)

แต่ผมต้องทำสิ่งหนึ่งที่ขัดกับความรู้สึกของผมมากที่สุดซึ่งก็คือการฉีดยาฆ่าหญ้า ญาติแนะนำวิธีการกำจัดวัชพืชที่ถือว่ามีความซับซ้อนอยู่พอตัว ก่อนอื่นแกบอกให้ผมเอารถแทรกเตอร์ตัดหญ้าทั้งแปลงเพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวกและทำให้วัชพืชอ่อนแอลง หลังจากนั้นแกก็จะให้คนมาพ่นยาฆ่าหญ้า ตามสมมุติฐานที่ว่าการพ่นยาตอนที่หญ้าแทงยอดขึ้นมาเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปจะทำให้มันตายง่ายที่สุดเพราะเหลือพลังงานสะสมอยู่น้อย (แต่หลังจากนั้นไม่นานนักหญ้าแม่งก็ขึ้นท่วมแปลงอยู่ดี)

ระหว่างรอให้หญ้าแทงยอดใหม่ ผมเริ่มลงมือปักหลักไม้ไผ้ที่เคยเหลาไว้หลายเดือนก่อน โดยในวันเสาร์อาทิตย์แฟนผมก็จะมาช่วยซึ่งทำให้งานของผมเสร็จเร็วกว่าการทำคนเดียวมาก
เมื่อถึงกำหนดฉีดยาฆ่าหญ้าคนงานก็เบี้ยว (อีกแล้ว) ซึ่งนั่นหมายความว่าผมจะต้องทำงานที่เกลียดที่สุดด้วยมือตัวเอง…

สารเคมีสีเขียวถูกเทลงถ้วยตวงก่อนถูกเทลงถัง ผมกรอกน้ำจนเต็มแล้วเดินพ่นไปตามแถวที่จะปลูกต้นไม้ ผมรู้สึกอึดอัดกับงานนี้มากโดยเฉพาะเวลาที่ต้องพ่นยาลงไปทำลายพืชพรรณที่อยู่บนแผ่นดินของเราด้วย บนผืนดินไม่ได้มีเพียงหญ้าที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แต่มันยังมีสมุนไพร ดอกไม้ พืชตระกูลถั่ว และอย่างอื่นอีกมากมายที่ให้ประโยชน์ต่อ คน พืช และสัตว์ ทำไมเราต้องเบียดเบียนระบบนิเวศเพียงเพื่อปลูกพืชไม่กี่ชนิดที่เราต้องการ ในวันนั้นผมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการอธิษฐานว่านี่จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ผมจะยอมให้มีการใช้สารพิษบนที่ดินผืนนี้

 
[สามปีหลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าไกลโพเซต เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์]
****************************************************************************
แนวทางการเตรียมกล้าไม้
- ง่ายสุดคือไปซื้อกล้าไม้ความสูงประมาณเอวตามร้าน ตัวเลือกจะมีมากแต่ราคาจะสูงกว่าเพื่อน
- ถ้าจะให้ถูกกว่านั้นก็ไปซื้อกล้าขนาดเล็ก แล้วมาใส่ถุงเพาะชำใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ผสมดินให้ดี ดูแลซัก 2 - 3 เดือนต้นกล้าก็จะพร้อมปลูก งานนี้ควรทำตอนต้นปีเพื่อให้ต้นกล้าโตพร้อมปลูกทันหน้าฝน

 
(ต้นมะฮอกกานีที่ถูกย้ายลงถุงชำขนาดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำไปปลูก)
 
(ต้นกล้าจะเคียนขนาดเล็กที่ถูกย้ายลงถุงเพาะชำใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำไปปลูก)  
- เพาะเมล็ด!!! บางทีก็มีแจกกันฟรีในกลุ่ม หรือ ถ้าโชคดีก็เก็บจากต้นมาเพาะได้เลย ไม่ได้พูดเล่น ๆ กล้าจำนวนไม่น้อยของผมมาจากวิธีนี้
 
(ต้นกฤษณาที่เพิ่งงอกออกจากเมล็ด)
 
(เมล็ดพะยูงกำลังถูกคัดก่อนนำมาแช่น้ำ)
 
(กล้าพะยูงในเรือนกระจกที่ทำแบบง่าย ๆ)
 
(รากปมของกล้าพะยูงพี่นำออกจากถุงชำ)

- ขุดเอา! อยากได้กล้าอะไรก็เดินไปหาแล้วขุดเอาที่รอบโคนต้นนั้น เมื่อขุดมาแล้วไม่ควรนำไปปลูกทันทีควรนำเพาะไว้ในถุงเพื่อให้รากฟื้นตัวก่อน

 
(ต้นกล้ามะค่าแต้ที่ขุดมาจากป่าปลูกในสวน)
 
(ต้นกล้ากฤษณาที่มีอยู่อย่างมากมายบริเวณโคนต้น แต่ถ้ามีการฉีดยาฆ่าหญ้าเราก็จะสูญเสียทรัพยากรนี้ไป)

เพราะเหตุใดเมล็ดพืชบางชนิดแช่น้ำแล้วก็ยังไม่งอก
พืชบางชนิดต้องอาศัยสัตว์ในการขยายพันธุ์ หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสัตว์ เช่น แมลงมีความจำเป็นในการผสมเกสร แต่ประโยชน์ของสัตว์ในการขยายพันธุ์ของพืชไม่ได้มีเพียงแต่นั้น พืชบางชนิดจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการย่อยของสัตว์ในการกระตุ้นการงอกของเมล็ดด้วย เพื่อให้สามารถกระจายสายพันธุ์ออกไปได้ไกลขึ้น พืชจึงพัฒนาการให้ผลของมันมีรสชาติที่สามารถดึงดูดสัตว์ให้มากิน เมื่อสัตว์กินแล้วก็จะไปขับถ่ายที่อื่นเพราะกระบวนการย่อยใช่เวลา กระบวนการนี้้เองที่เป็นตัวกระตุ้นการงอกให้กับเมล็ด นอกนั้นยังให้แถมขี้มาให้ด้วย
คนจึงจำลองกระบวนการนี้ขึ้นมาด้วยการนำเมล็ดพืชมาแช่ในน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นการงอกก่อนนำไปปลูก
****************************************************************************
เนื่องจากกล้าไม้มีจำนวนเยอะมาก และผมต้องรีบปลูกให้เสร็จภายในกลางฤดูฝน ผมจึงจ้างคนมาช่วยปลูกต้นยาง ส่วนผมจะปลูกต้นกฤษณาและไม่เนื้อแข็ง ผมรู้สึกมีความสุขมากเมื่อได้จับจอบขุดดิน  การปลูกต้นไม้ได้ช่วยเตือนสติว่าผมมาที่นี่เพื่ออะไร และช่วยให้ผมรู้สึกว่าเรากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้แม้จะรู้ดีว่าผมอาจไม่มีชีวิตอยู่จนถึงวันที่จะได้ใช้ไม้ที่ตัวเองปลูก สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นระหว่างการขุดดินก็คือไส้เดือนในเกือบจะทุกหลุมที่ผมขุดลงไป ข่าวร้ายคือไส้เดือนที่เจอส่วนมากจะอยู่สภาพตัวขาดเพราะถูกจอบสับ ผมรู้สึกสะเทือนใจอยู่บ้างเพราะแม้แต่การทำสิ่งที่คิดว่าดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่สุดก็ยังส่งผลกระทบกับเพื่อนร่วมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนอกจากจะตั้งจิตบอกแม่ธรณีว่าก่อนเริ่มทำงานว่าขอให้การปลูกป่าในครั้งนี้เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด
หากมองในแง่ดีบางทีไส้เดือนพวกนี้อาจกำลังสื่อสารให้ผมเห็นกระบวนการในดิน เราไม่จะเป็นจะต้องเลี้ยงไส้เดือนหรือหาปุ๋ยอะไรมาใส่ให้ยุ่งยากเลย เพียงแค่เราไม่ไปรบกวนกระบวนการทางธรรมชาติจนเกินไปนักสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็พร้อมจะทำหน้าที่ดูแลผืนดินอยู่แล้ว พวกเราใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ก็ปลูกต้นไม้เสร็จทั้งหมด มหกรรมการขุดดินอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพดินติดตาผมแม้ยามนอนหลับ แฟนผมที่มาช่วยก็เป็นเช่นกัน
*******************************************
เมื่อปลูกป่าเสร็จผมพอจะมีเวลามาทบทวนบทเรียนรอบปีที่ผ่านมา ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า ผมได้กำไรจากการทำสวนมังคุดประมาณสามหมื่นเศษ ๆ แล้วตอนนี้ผมได้ใช้เงินทั้งหมดนั้นไปกับการ ปลูกป่า!!! เงินเก็บของผมในตอนนี้มีน้อยกว่าตอนที่ผมเริ่มทำสวนใหม่ ๆ ซึ่งมันก็น้อยจะตายห่าอยู่แล้ว

บัชีรายจ่าย
ฤดูกาล
2555 - 2556
วันที่
รายการ
หมวด
จำนวน
ราคาต่อหน่วย
จำนวนเงิน
1 พ.ค. 55
กล้ากฤษณา
ไม้ป่า
2
15
30
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 251
ไม้ป่า
235
30
7,050
1 พ.ค. 55
กล้ากฤษณา
ไม้ป่า
450
6
2,700
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 235
ไม้ป่า
400
30
12,000
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 251
ไม้ป่า
100
25
2,500
1 มิ.ย. 55
ค่าจ้างปลูกยาง
ไม้ป่า
720
5
3,600
1 มิ.ย. 55
น้ำมันดีเซล
ไม้ป่า
1
500
500
1 มิ.ย. 55
ดินฟอสเฟต 0-3-0
ไม้ป่า
2
150
300
1 มิ.ย. 55
ค่าจ้างปลูกกฤษณา (2 คน 2 วัน)
ไม้ป่า
4
200
800
1 มิ.ย. 55
กล้าไม้ป่า
ไม้ป่า
1
800
800
1 มิ.ย. 55
เชือกฟาง
ไม้ป่า
1
40
40
9 พ.ย. 55
น้ำมันเบนซิน
ไม้ป่า
1
300
300
9 พ.ย. 55
น้ำมันดีเซล
ไม้ป่า
1
500
500
18 พ.ย. 55
ค่าแรงทำโคนไม่ป่า (2 คน 2 วัน)
ไม้ป่า
2
800
1,600
15 ก.พ. 56
ไผ่ยักษ์
ไม้ป่า
1
500
500
15 ก.พ. 56
กันเกรา
ไม้ป่า
5
20
100
15 ก.พ. 56
พญาไม้
ไม้ป่า
5
20
100
8 ก.ค. 56
กล้ายาง ฉะเชิงเทรา 50
ไม้ป่า
90
25
2,250
 รายจ่ายในการปลูกป่า

ค่าใช้จ่ายหลักมีอยู่สามอย่างคือ ค่าปุ๋ย-ยา ค่าแรงคนงาน และค่าน้ำมัน สิ่งที่น่าตกใจก็ คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเกษตรนั้นมันมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๕๖ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นเงิน ๔๗,๒๑๑ บาท ค่าใช้จ่ายรองลงมาคือค่าแรงคนเก็บมังคุดซึ่งมากถึง ๒๔,๙๔๔ บาท คิดเป็นร้อยละ ๒๙ ของค่าใช้จ่าย ตัวเลขนี้ก็น่าสนใจเช่นกันเพราะในฤดูการนี้เจ้าของสวน (ผม + ญาติ ที่ร่วมลงทุนในปีแรก) ได้กำไรประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท จากการทำงาน ๑ ปี + ๗ ปีแรกที่ยังไม่มีผลผลิต ในขณะที่ครอบครัวคนเก็บมังคุดได้ ๒๔,๖๔๔ บาท จากการทำงานประมาณสองเดือนเศษ ค่าใช้จ่ายอันดับสามคือค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสูบน้ำ (น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง สายพาน) ปีนี้นับว่าผมโชคดีที่มีฝนตกในหน้าแล้งมากผิดปรกติทำให้ค่าใช้จ่ายในปีนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นในฤดูการถัดไปค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เพราะไฟฟ้าที่เข้ามาที่สวนเป็นแค่ไฟเฟสเดียวผมจึงไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ 


 
ในขณะที่รายรับนั้นก็เป็นอีกปัญหาสำคัญเช่นกัน เพราะในการขายผลผลิตการเกษตรผู้ซื้อคือผู้กำหนดราคา และราคารับซื้อก็จะเปลี่ยนแปลงทุกวันไปตามปริมาณผลผลิต พอถึงช่วงที่เก็บเกี่ยวได้มากราคาก็จะถูกกระทืบลงทันที (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ EP1 - การซื้อเหมา การคัด และการผูกขาดทางการค้า – กลไกอุบาทว์ที่ผู้บริโภคไม่เคยรับรู้)
การวิเคราะบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในระบบอาหารนั้นมาจากการทำเกษตรเชิงเคมีเชิงพาณิชย์ และกลไกการตลาดอันบิดเบี้ยวที่ผู้รับซื้อมีอำนาจในการกำหนดราคาตามอำเภอใจ หากมองไปถึงสาเหตุที่ลึกกว่านั้น สาเหตุหลักของความล้มเหลวนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อนไปกว่าความโลภ ความมักง่าย และความเห็นแก่ตัวที่มาจากทั้งฝั่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ

แม้ว่าเงินทุนของผมในตอนนั้นจะเหลือน้อยเต็มที แต่ตอนนี้ผมพอจะรู้แล้วว่าปัญหาของผมคืออะไร ถ้าผมทำเกษตรอินทรีย์ ต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา โง่ ๆ นั่นอันเป็นค่าใช้จ่ายหลักก็จะหายไปทันที แต่ปัญหาคือหากผลผลิตของผมไม่สวยตรงตามความต้องการของผู้รับซื้อ แล้วผมจะได้ขายได้ราคาเท่าไร ผมจะเอาผลผลิตอินทรีย์ของผมไปขายที่ไหนได้ และใครจะกินมังคุดหน้าตาขี้เหร่ ๆ ….
.
.
.
ผมไม่ทราบคำตอบนั้น และผมก็คิดว่าเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็ไม่ทราบคำตอบนั้นเช่นกัน
.
.
.
แต่ถ้าผมมัวแต่คิดโดยไม่ลงมือทำ ชาติหน้าผมก็คงยังจะไม่ได้คำตอบ ผมเลือกที่จะสู้ต่อแม้ว่าฤดูการที่แล้วผมล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่มันคือความล้มเหลวบนหนทางที่ผมไม่ได้เลือก แล้วผมก็เชื่อว่ามันไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว นี่คือทางตันที่คนส่วนมากหลงเดินตามกันมาเพราะคิดว่าจะทำให้รวย แต่พอไม่เป็นเช่นนั้นก็เลือกที่จะทำผิดซ้ำๆ ซาก ๆ โดยไม่คิดจะเงยหน้าขึ้นมาพิจารณาปัญหาอย่างลึกซึ้งและทดลองแนวทางอื่นบ้าง ปีนี้ผมจะต่อสู้ตามแนวทางที่ผมเชื่อ ตามแนวทางของในหลวง ตามแนวทางการเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าผมจะมีเงินทุนเหลืออยู่น้อยเต็มที แต่ผมจะสู้ตามกำลังทรัพย์และกำลังกายที่ผมมี ผมได้ยินมามากว่าเกษตรพอเพียงทำไม่ได้จริง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นเช่นไรจนกว่าจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

"มันไม่มีทางที่จะเชี่ยไปกว่านี้ได้หรอน่า" ผมให้กำลังใจตัวเอง ถ้าปีนี้ไม่รอดก็กลับบ้านก็แค่นั้น แต่หากผมผ่านปีนี้ไปได้ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งที่ในหลวงสอนนั้นทำได้จริง และใคร ๆ ก็ทำได้แม้ว่าจะมีหรือไม่มีเงินมากมายก็ตาม
**************************************
โปรดติดตามต่อตอนที่ 2