Popular Posts

Friday, June 10, 2011

ชีวิตที่ไม่ได้หายไปไหน – ช่วงเวลาใต้ร่มกาสาวพัตร


หมายเหตุ: คนไทยมักจะประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่าเป็นชาวพุทธทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ แล้วแทบจะไม่เคยศึกษาหลักธรรมกันอย่างจริงจัง แม้บางคนจะเคยบวชทว่าส่วนมักเป็นการบวชตามประเพณีแบบไม่คุ้มค่ามีดโกน ส่วนบางคนที่อยากจะบวชก็หาได้มีโอกาสเช่นนั้นไม่ จึงขอใช้โอกาสนี้นำเรื่องราวบางส่วนของชีวิตใต้ร่มกาสาวพัตรออกมาให้ทุกคนได้รู้จักพระพุทธศาสนาในมุมมองที่ต่างออกไป







Entry แรกหลังจากที่หายไปหนึ่งปี

ก่อนอื่นก็ขอบใจเพื่อน ๆ พี่น้องทุกคนสำหรับความระลึกถึง แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปทักทายใครใน "หนังสือหน้า" มาเกือบปีตั้งแต่ออกบวช วันนี้ไม่รู้นึกยังไงไปสะดุดตากับเบอร์รี่ดำของพระใหม่จึงเอามาเจิมเล่น (ก่อนจะโดนยึด) และไป ๆ มา ๆ ก็มาจบลง ณ เมลกองเขื่องที่ไม่ได้เข้าไปอ่านมานานพอสมควร พิจารณาแล้วเห็นสมควรด้วยประการทั้งปวงว่าควรจะให้เพื่อนผองได้ทราบข่าวคราวในชีวิตผ้าเหลืองบ้าง


ขอโทษที่ไม่ได้ตอบเมลเพื่อน ๆ ทั้งหลาย เพราะ ๑. มีเวลาแต่ไม่มีเวลา ๒. ข้อจำกัดทางพระวินัยที่ไม่สามารถคุยกับเพศตรงข้ามแบบ ๒:๒ ได้ (หรือควรจะเรียกว่า ๑:๑ กันแน่) และ ๓. การเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำกัด


จะอย่างไรก็ตาม for lotus sake จนถึงวันนี้อาตมาบวชมาได้ ๑๐ เดือนเศษแล้ว ซึ่งก็ถือว่านานพอสมควรและก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะอยู่ต่อไปถึงเมื่อไร เรื่องง่าย ๆ ว่าจะอยู่หรือไปกลับเป็นเรื่องยากที่ไม่รู้จะไปถามใครที่ไหน หลายคนเวลาที่ไม่รู้จะเองยังไงกับชีวิตก็มักจะเข้าหาวัด และคนที่อยู่ในวัดเล่าจะให้เข้าผับไปถามใครดี


ไม่กี่เดือนก่อนครูบาแถวบ้านดันตัดช่องน้อยแอบลาสิกขาไปทุกข์ทนเอากระดาษเพียงใบเดียวมาประดับผนังคฤหาสน์เรือนงาม อีกทั้งพระอาจารย์สมัยบวชเณรภาคฤดูร้อนก็เพิ่งจะจากไปทำให้การเดินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยวทวีความเดียวดายยิ่งขึ้นไปอีก ยังไงก็คิดเสียว่ามาคนเดียวก็ไปคนเดียว แม้จะเดินทางสายไหนสุดท้ายต่างก็ต้องล้วนพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น และยิ่งยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไรเราก็ได้รับความทุกข์มากเท่านั้น เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจดี


ระยะเวลาหนึ่งปีอาจจะดูน้อยนิดสำหรับพระเถระที่บวชมาทั้งชีวิต แต่การเดินทางหมื่นลี้มิได้เริ่มจากก้าวแรกหรอกหรือ หากจะมองว่ามันเป็นการพิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่งก็คงจะพอกล่าวได้ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยก็คือการเดินทางบนถนนสายนี้ยังเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของบุคคลรอบตัวด้วยเช่นกัน


การพิสูจน์เริ่มจากการเอาชนะความขี้เกียจแหกขี้ตามาบำเพ็ญเพียรตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง หรือออกไปบิณฑบาตหากถึงวาระ หกโมงครึ่งจึงได้เวลาฉันน้ำยาคู (ไม่ใช่ยาคูลท์) หรืออาหารเหลว ๆ จำพวกน้ำข้าว น้ำเผือก น้ำถั่วเขียว น้ำฟักทอง…can it be any yuckier! ผะอืดผะอมกันพองามแล้วก็ได้เวลาทำความสะอาดที่พัก sweep the floor and of course clean chickens' shit โชคดีที่สหาย "เสื้อส้ม" สมัครสมานสามัคคีงานจึงเสร็จได้เร็ว เสร็จกิจส่วนรวมก็ถึงเวลาซักผ้าขนาด ๒ x ๓ เมตร ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มและจบลงตรงไหนดี น่าจะจับต้มด้วยแก่นขนุนแบบวัดป่าให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ตะวันไม่ทันจะขึ้นดี (แต่ก็ร้อนโคตร) เก้าโมงครึ่งก็ถึงเวลาปฏิบัติธรรมยามเช้าและยาวจนถึงเพล หากเป็นในพรรษาช่วงนี้คือเวลาเรียนนักธรรม ฉันเพลแบบ all in one คือ ทุกอย่างลงบาตรหมด การฉันมื้อนี้จึงเหมือนได้กินอาหารทิพย์ที่ในหนึ่งคำข้าวมีรสชาติของทุกอย่างมารวมกัน หนังท้องตึงหนังหน้าก็เริ่มด้านทำเนียนจำวัดเพื่อหลบฟังธรรมรอบบ่ายซะอย่างงั้น งีบไปพักใหญ่ความละอายจึงเกิดรีบรุดไปนั่งสมาธิรอบห้าโมง หากไม่ใช่ช่วงอบรมพระกัมมัฏฐานก็จะหลอกแก๊งพระใหม่ไปกวาดวัด กลับมาก็ต้องสรงน้ำเพื่อเตรียมตัวไปทำวัตรค่ำที่เริ่มตั้งแต่ทุ่มครึ่งและจบลงราวสี่ทุ่มครึ่ง หากท่านสมภารไม่ลงก็สามทุ่มกว่า ๆ จากนั้นก็แหกขี้ตาขึ้นมาแบบเบลอ ๆ อีกครั้ง แต่ละวันต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


ดูเผิน ๆ ว่าเป็นพระแล้วจะไม่ต้องกังวลกับอะไรมากมาย แต่ไม่นานมานี้ก็มีเรื่องให้แทบจะประสาทฉันกันเลยทีเดียว


เช้าวันหนึ่งได้มีเหตุให้นิ้วมือไปเกี่ยวกับลวดผูกขาบาตรจนได้แผลซิบ ๆ แผลไม่ทันจะหายบ่ายวันก็ถูกกะเกณฑ์ไปโกนหัวเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาก ๆ (จนไม่กล้าเล่ารายละเอียด) ที่ถูกเกณฑ์มาบวชเช่นเดียวกัน อาตมาพยายามหาถุงมือแต่ไม่พบแม้ในห้องพยาบาล


"อ้าวพวกมึงเร็ว ๆ อย่าให้หลวงพี่ต้องรอ วันนี้ปล่อยตัวแล้วนะขอกูตบกระบาลก่อน เดี๋ยวมึงเป็นพระแล้วกูตบไม่ได้" ผู้หมวดสบถอย่างสุภาพ


"นี่ไปสักที่ไหนมาเนี่ย ลายพร้อยเลย" หลวงพี่หาเรื่องคุย

"ตอนอยู่ในคุกครับหลวงพี่" นาคตอบแบบไม่ต้องคิด

"แล้วมาบวชได้ยังไงหรอ"

"ตำรวจมันหลอกมาคับ มันอยากได้ยอดเยอะ ๆ"


"ถ้าใส่ถุงมือเดี๋ยวเขาก็หาว่าเรารังเกียจเขาหรอก" (ทีมงานแสดงความห่วงใยว่าเยาวชนที่ถูกเกณฑ์มาจะเสียหน้า แต่ไม่ห่วงว่าพระที่ถูกเกณฑ์มาช่วยโกนหัวจะเสียชีวิต)


โกนหนวดบนหน้าตัวเองยังได้เลือดเป็นนิจ แล้วการโกนหัวกระบาลชาวบ้านมันจะไปเหลืออะไร

"หลวงพี่ตรวจตอนนี้ก็ไม่เจอเชื้อหรอก ต้องรอให้มันฟักเชื้อสักสามเดือนก่อน" หมอชิดทิดพระให้คำแนะนำ

ด้วยความที่ยุ่งมากถึงมากที่สุดกับโครงการบวชเณรภาคฤดูร้อน สามเดือนที่ต้องรอผ่านไปอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม อาตมาได้ไปตรวจเลือดพร้อมกับนาคที่จะมาบวชพระอีก ๒ คน พยาบาลทำหน้างง ๆ ว่าพระจะมาตรวจเลือดไปทำไม จึงตอบด้วยสายตาว่า "กูป่าวนะเว่ย"


"อย่างมากก็ตายในหน้าที่ละวะ อาตมาคิดในใจ" แต่พอเหลือบไปดูนาคที่มาด้วยจึงได้รู้ว่ายังมีคนที่ "ลุ้น" มากกว่าเราเสียอีก


ผลตรวจออกมาว่ารอดจึงไปฉลองด้วยการบริจาคเลือดอีกร่วมครึ่งลิตรในวันรุ่งขึ้นที่วัด อิ่มบุญยังไม่พอจึงไปต่อด้วยการสมัครเป็นอาจารย์ใหญ่ หลวงพี่ที่กรุณามาเป็นพยานรับรองถามอีกครั้งว่าไม่กลัวหรือจึงตอบไปแบบซื่อ ๆ ไปว่า "จะกลัวทำไมครับป่านนั้นก็ตายไปแล้ว"


กรอกใบสมัครเสร็จก็ไปใช้บริการตรวจสายตาฟรีที่โต๊ะข้าง ๆ ก่อนจะได้ยินข่าวร้ายจากสาวคอกระเช้าที่นั่งคุกเข่าที่พื้นให้พระเครียดเล่น ๆ (เพราะอยากจะตัดแว่นให้เห็นชัด ๆ) ว่า

"หลวงพี่ตาแพ้แสงนะคะ มีสายตาสั้นด้วย ควรใช้เลนส์ Multicoated...ประกอบได้ที่นี่เลยคะ ราคา ๒,๐๐๐ บาท ไม่งั้นสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ"

"....สายตาสั้น ๒๕ เนี่ยนะ..." (อาตมาคิดในใจ)

นี่เองกระมังที่คนมักพูดว่าอยู่ในวัดดีแล้วโลกภายนอกมีแต่ความวุ่นวาย

______________________________________

4 comments:

AnT-Ameise :-) said...

อ่านเรื่องที่โพสต์ล่าสุด(ณ เวลานี้) แล้วก็ทำให้จินตนาการถึงขวัญในตอนยังบวชได้พอสมควรนะ ถึงตอนเป็นพระยังมีความคิดกวนๆมีมุมดิบๆปนอยู่ตลอด แต่อ่านไปก็ไหลลื่นดี
-มีคำศัพท์หลายคำที่อ่านแล้วต้อง "หืมมมม..เมื่อกี๊อะไรนะ??"อยู่เป็นระยะ เช่น  หนังสือหน้า-อันนี้คิด3วิ, เบอร์รี่สีดำ-อันนี้ใคร่ครวญอยู่6วิ, กระดาษที่เอามาแปะผนังคฤหาสน์-คำนี้ตีความอยู่เกือบนาที สรุปคืออ่านไทยก็ต้องแปลเป็นไทยอีกรอบนึง ลึกซึ้งมากกกกกก...
-นานมากแล้วที่ใม่เห็นคนเขียนงานแล้วใช้เลขไทย สวยดีนะ จริงๆเราก็ควรลดการเขียนเลขอารบิกลงบ้าง ดูๆแล้วนึกถึงสมัยเรียนประถมที่ต้องมีการเขียนวันที่บนกระดานด้วยเลขไทยทุกวัน (นั่นน่าจะเป็นช่วงล่าสุดของชีวิตแล้วล่ะที่เราได้ใช้เลขไทย)
-บางตอนอ่านแล้วก็เหมือนจิตใจมีเกเรบ้างกุบกิบนะ แต่ช่วงที่เล่าถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เวลาไหนทำอะไร ซักจีวร และอื่นๆ ก็เล่าได้กระชับดี แต่เห็นความเรียบง่ายในการดำรงชีวิตอย่างครบถ้วนทุกมุมเลย ตั้งแต่ตื่น จนฉัน(มีไรการันต์มั้ย) บางมุมก็มีบ่นๆหน่อยว่าไม่น่ากิน เทรวมกัน อะไรอย่างงั้น แต่มันก็เหมือนโดนครอบไว้ด้วยโครงเรื่องว่าชีวิตตอนนั้นเรียบง่าย สมถะและอยู่ด้วยความสบายใจ ก็เลยรู้สึกว่าที่บ่นๆมาก็เหมือนแค่ขวัญมองในมุมฆราวาสเข้าไป เหมือนแบบพูดแทนความรู้สึกคนปกติ เพราะเราว่าตอนที่ยังบวชจริงๆขวัญคงไม่ได้คิดบ่นอะไรเลย
-โกนผมแบบเสี่ยงๆนี่ไม่แนะนำนะ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า แต่ตรวจเลือดแล้วก็โอเค ในที่สุดอ่านมาถึงตอนที่บอกว่าสมัครเป็นอาจาย์ใหญ่ไปแล้ว เราก็เลยได้รับรู้ว่า...ร่างกายขวัญไม่ใช่ของเราอีกต่อไป... เอ้ย!!ร่างกายขวัญบริจาคไปแล้ว ก็ดีนะ เด็กๆจะได้มาศึกษากายภาพแบบมีกล้ามเนื้อชัดๆ แล้วก็ยังได้มาวิเคราะห์อีกด้วยว่าทำไมคนบางคนถึงนอนคว่ำไม่ได้ ฮะๆ....
-สุดท้าย.... สรุปว่าวันนั้นได้ตัดแว่นเพื่อวิสัยทัศน์ที่ดีกว่าแบบเฉพาะกิจรึเปล่า...

บางทีการนำความวุ่นวายออกจากวัดนั่นก็ดีเหมือนกันนะ.. แบบตอนที่ขวัญสึกออกมาไง ฮ่าๆ แซวเล่นนะ เราวู้ว่าขวัญเป็นพระที่ดี ตอนนี้ก็เลยเป็นคนที่ดีไง :-)

นิรนาม said...

โอโหตั้งใจ comment มาก ๆ คงจะต้องใข้ความอดทนและพยายามอย่างยิ่งยวดบนโทรศัพท์ที่เจ็บคอ แม้จะเป็นความคิดเห็นเดียวแต่ก็ให้กำลังใจเราได้อักโข

- คำว่า "ฉัน" ไม่มีการันต์นะ ไม่งั้นจะหมายถึงกาพย์กลอน

- "...ร่างกายขวัญไม่ใช่ของเราอีกต่อไป..." วรรคทองนี้เมพมากกด like เลย แต่คิดไปคิดมาร่างกายของเราเป็นของแอ๊นตังแต่เมื่อไรน้า (o_0)"\

Ant-Ameise said...

เรื่องดีๆ ก็ต้องตั้งใจอ่านสิจ๊ะ เพราะเข้าใจว่าทุกตัวอักษรทุกข้อความมันออกมาจากควาดคิดและความตั้งใจของผู้เขียนทั้งนั้น ดีไจที่จะเป็นกำลังใจให้ขวัญเขียนเรื่องดีๆต่อไปได้นะ
ปล. ประโยคทองนั้นก็แหม.... แค่แซวอะไรนิดหน่อย... แต่ก็แอบมีแป้วๆนิดนึง T_T.. อย่างไรก็ตามได้บุญก็อนุโมทนาด้วยน่าจะดีที่สุดใช่มั้ยคะ:-)

Jessica said...

Wow..P'Kwan how I wish to have discovered the translate button prior to your ordination so to see more deeply into your experience as it was a hard year of separation. Did you also keep a journal or dairy during that time to capture your thoughts during that time? Interesting how you still managed to keep a crisp dualistic outlook the whole time. From the outside looking in, from the inside looking out. Yet I am sure the translator misses much, the main message I hope remains in tact.
Metta
Jessica