Popular Posts

Wednesday, September 10, 2014

เส้นทางสู่ความพอเพียง ทุติยบท – บนเส้นทางที่ไม่ได้เลือก


ผมมาอยู่ที่นี่ได้ครึ่งปีแล้ว แต่จนถึงวันนี้สิ่งที่ผมทำอยู่กับสิ่งที่ผมอยากจะทำยังคงเป็นดั่งเส้นขนาน และยิ่งมาเจอการทำงานแบบนั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ถูก หลายครั้งผมจึงกลับมาถามตัวเองว่ากำลังทำเชี่ยอะไรอยู่ที่นี่

 

แต่อย่างไรผมก็เลือกที่จะเดินทางสายนี้แล้ว การถอยออกกลางคันย่อมไม่ใช่หนทางของผมอีกเช่นกัน ผมจึงมุ่งหน้าต่อไปในเส้นทางที่ผม....
.
.
.
ไม่ได้เลือก...

 

ถึงแม้อุดมการณ์จะต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ญาติครอบครัวนั้นก็เป็นผู้มีบุญคุณของผม แกให้ความช่วยเหลือทุกเรื่องทำกับข้าวให้กิน พาไปรู้จักคนและสถานที่หลายแห่ง ให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ มากมาย ให้ยืมเครื่องมือสารพัดโดยเคยไม่มีทีท่ารังเกียจแม้แต่น้อย


 

*************************

 

ช่วงนี้ผมทำงานในแปลงมังคุดวันละ ๔ ชั่วโมงเศษ ๆ คือ รดน้ำในตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายก็จะทำเรื่องอื่น ๆ เช่น เขียนบล็อก รับจ้างแปลหนังสือ/เอกสาร และงานอาสาตรวจหนังสือ ส่วนบางวันผมก็ออกไปขี่จักรยานหรือไม่ก็วิ่งออกกำลังรอบสวน




 

วันหนึ่งผมได้หนังสือ "คุยเฟื่องเรื่องมังคุด" ซึ่งเป็นคู่มือการทำสวนมังคุดที่สถานีวิจัยพืชสวนพิมพ์แจก ผมอ่านไปสามบรรทัดก็พอจะเข้าใจได้ว่าบริษัทเคมีเกษตรเป็นนายทุนให้กับการวิจัยและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ การหว่านพืชหวังผลของเกษตรกรเป็นฉันใด การให้ทุนของบริษัทเอกชนก็คงจะเป็นฉันนั้น หนังสือเล่มนี้สอดแทรกเรื่องปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และฮอร์โมนสังเคราะห์แทบจะทุกย่อหน้าจนบางทีผมนึกว่ากำลังอ่านแคตตาล็อกเคมีเกษตรอยู่ ครึ่งหลังของคู่มือเป็นโฆษณาสารเคมีแบบตรง ๆ พร้อมโฆษณาชวนเชื่อแบบควาย ๆ แต่คนก็เสือกเชื่อ คู่มือเล่มนี้จึงทำให้ผมถึงบางอ้อว่าเพราะเหตุใดเคมีเกษตรจึงเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตมากในบ้านเรา ในขณะที่การเกษตรอินทรีย์กลับไม่เติบโตเท่าที่ควร











 

แน่นอนว่านักวิจัยคงไม่ได้กินหญ้าเป็นอาหาร ถึงแม้ว่าหลายครั้งผมจะเชื่อแบบนั้น พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยเงินที่ได้รับทุกปลายเดือน พวกเขานำเงินที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเป็นอาหารอีกทีหนึ่ง นอกจากอาหารแล้วพวกเขายังต้องการเงินเพื่อไปซื้อสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ ด้วย ยิ่งมีเงินมากเท่าไรพวกเขาก็จะสามารถตอบสนองความต้องการในการบริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น พวกเขาจะมีเงินมากขึ้นและมีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพหากมีผลงานวิจัย แต่งานวิจัยจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากเงินทุนเช่นกัน นี่เองที่เป็นช่องให้บริษัทเคมีเกษตรทั้งหลายให้เงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย จึงไม่ต้องคิดเลยว่างานวิจัยนั้นทำไปเพื่อใครกันแน่

 

ปี 2554 ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับที่ 5 ของโลก คือ 0.86 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ โดยอันดับที่ 1 - 4 ได้แก่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล
ส่วนรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ระบุว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรสูงเป็นอันดับ 1
เดือนกรกฎาคม 2554 มีการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักและผลไม้จาก 70 ประเทศที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ปรากฏว่าสินค้าจากประเทศไทยมีสารพิษตกค้างสูงสุดเป็นอันดับ 1 และถูกตรวจพบบ่อยครั้งที่สุดในโลก


 

หากศึกษาการเมืองไทยสักนิดก็จะพบกับความจริงอันไม่น่ารับฟังว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของบ้านเรานั้นถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาโดยตลอด ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาลพรรคนี้ก็จะขอจับจองกระทรวงนี้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงอย่าได้หวังความสุจริตโปร่งใสใด ๆ จากที่นี่ ผลประโยชน์จากการจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตรนั้นมหาศาลมาก และบริษัทพวกนี้ก็มีเงินและกำลังมากพอที่จะให้หน่วยงานรัฐจัดตั้งหน่วยงานแปลก ๆ ขึ้นมา เช่น สำนักวิจัยพัฒนาการ อารักขาพืช เพื่อมารับใช้พวกนี้อีกทอดหนึ่งด้วยการแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีที่บริษัทพวกนี้จำหน่าย แทนการปลูกพืชอย่างผสมผสานเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพอันจะนำไปสู่กลไกควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ

 

*****************************

 

ช่วงต้นปีญาติพาผมไปซื้อต้นกล้าสำหรับปลูกป่าในพื้นที่ว่างเมื่อฤดูฝนมาถึง แกสอนการผสมดินและการย้ายต้นกล้าลงถุงใหม่ แกบอกว่าต้นกล้าที่ซื้อมาปลูกในดินที่ไม่ดีและถุงก็มีขนาดเล็กมาก การย้ายลงถุงใหม่จะทำให้ต้นกล้าเติบโตได้ดีกว่าและจะมีอัตรารอดสูงเมื่อเอาลงดิน ส่วนผสมของดินใหม่คือ ดิน (ก็แหงอยู่แล้ว) แกลบ อุจจาระกระบือ และถ่าน ณ บัดนั้นผมไม่เข้าใจว่าจะใส่ถ่านไปทำพระแสงอะไร แต่ก็ได้คำตอบในภายหลังว่าเพื่อลดความเป็นกรดในดิน 
 




 

นอกจากเตรียมกล้าแล้วผมก็จะต้องเตรียมไม้หลักไว้ประคองต้นในช่วงแรก และเป็นสัญลักษณ์ให้ระวังเวลาตัดหญ้า ถ้าอยู่กรุงเทพผมคงขับรถไปซื้อแต่ที่นี่ผมต้องทำเองทั้งหมด.....แค่พันกว่าอันเท่านั้น

 



อีกงานที่ผมต้องเร่งมือทำคือโรงรถสำหรับรถกระบะที่ได้จองไว้ ผมพยายามจะให้ประหยัดที่สุดจึงใช้ไผ่ในสวนมาทำเป็นเสาและคลุมด้วยผ้าใบพลาสติกที่ซื้อมาจากตลาด ด้วยความที่ผมอ่อนประสบการณ์ญาติจึงขอให้คนปลูกพริกในสวนมาช่วย งานนี้ไม่ยากและทำเสร็จในเวลาเพียงสองวัน



 



สวนของญาติไม่ได้ขายพริก แต่มีคนมาขอเช่าที่เพื่อปลูกพริก แกใจดีให้ใช้พื้นที่โดยไม่คิดค่าเช่า บอกเพียงแค่ว่าตอนหน้ามังคุดให้มาช่วยเก็บหน่อย (แต่ก็จ่ายค่าจ้างตามปรกติ) ปีนั้นพริกราคาดีมากด้วยอานิสงส์จากน้ำท่วมภาคกลางและภาคเหนือ ขนาดราคาส่งยังขายได้ถึงกิโลละ ๒๐๐ บาท คนปลูกพริกบอกให้ญาติและผมเด็ดกินเล่นได้ตามสบาย แต่เราทั้งสองคนไม่คิดแม้แต่จะแตะเพราะเห็นแกพ่นยาฆ่าคนถี่ ๆ แทบทุกวันเนื่องจากฝนตกบ่อย ตามปรกติพืชผักที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงจะต้องเว้นระยะสักพักเพื่อให้สารพิษสลายตัว แต่ผมได้ประจักษ์กับตาตัวเองแล้วว่าผักที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นหาความปลอดภัยไม่ได้เลย และเมื่อไปซื้อที่ตลาดหลายครั้งผักหลายชนิดก็จะถูกม้วนใส่หนังสือพิมพ์เพื่อให้สารตะกั่วจากหมึกซึมเข้าไปให้คนกินตายเร็วขึ้น การปนเปื้อนเกิดขึ้นตลอดกระบวนการจากสวนสู่จาน เวลาทำกับข้าวเราล้างกันดีแค่ไหน หรือหากซื้อกับข้าวตามร้านแม่งจะล้างให้กูไหม... ดังนั้นผมจึงเข้าใจแล้วว่าเพราะเหตุใดผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชอย่างญาติของผมจึงแทบจะไม่กินผักจากตลาดเลย

 

หลายสวนแถวนี้นิยมให้คนเช่าพื้นที่เพื่อปลูกไม้เล็ก เช่น พริก หรือ สับปะรด ใต้ต้นยางพาราที่อายุน้อย งานนี้เจ้าของที่ได้ประโยชน์ ๓ เด้งคือ ได้ค่าเช่าที่ ได้ปุ๋ยให้กับต้นยาง และได้คนมาจัดการกับหญ้าให้

 

*****************************

 

เมื่อถึงกำหนดญาติให้ผมไปซื้อปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง พร้อมคนพ่น และคนกิน ญาติโทรนัดคนพ่นยาให้มาในวันที่กำหนด สอนให้ผมตวงสารเคมีและแบ่งออกเป็นถุง ๆ เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องและง่ายเมื่อนำไปใช้

 

การพ่นยาแต่ละครั้งจะห่างกัน ๒ – ๓ อาทิตย์ การพ่นยาจะเริ่มขึ้นในตอนเช้าประมาณ ๗ โมงเพื่อให้งานเสร็จในวันเดียว งานนี้เริ่มต้นด้วยการสูบน้ำจากบ่อลงถัง ๑,๐๐๐ ลิตรที่ตั้งอยู่บนรถกระบะ ถังนี้จะต่อกับเครื่องพ่นยาที่อยู่ท้ายรถ หน้าที่ของผมคือไปดูว่าคนพ่นใส่ปุ๋ยและยาถูกต้องตามสัดส่วนหรือไม่ และดูด้วยว่าคนพ่นยาไม่ได้แอบจิ๊กปุ๋ยกลับบ้าน เมื่อผสมยาเสร็จรถพ่นยาก็จะขับไปจอดบนถนนกลางสวน จากนั้นคนงานก็จะเดินลากสายยางยาว ๒๐๐ เมตร ๒ เส้นเข้าไปในแปลง ระหว่างการทำงานจะมี ๒ คน ทำหน้าที่พ่น กับอีก ๒ คนทำหน้าที่ลากสายยางนั้น 


ภาพจาก www.kasetporpeang.com


การพ่นยาแบบนี้เป็นอันตรายกับคนพ่นมาก แต่พวกเขาก็พ่นไปดูดบุหรี่ไปอย่างไม่กลัวตายในขณะที่ผมต้องปิดบ้านทั้งหลังแล้วหลบไปอยู่ที่มุมอื่นของสวนเพราะรู้สึกปวดหัวมากเมื่อได้กลิ่น ผมไม่เห็นด้วยที่เราจะต้องจ้างคนอื่นมาทำงาน "เลว ๆ" แบบนี้ เราพ่นยาให้มังคุดผิวสวยเพื่อให้เวลาขาย เกือบ จะได้ราคาดี แต่คุณภาพโคตรห่วย ......สิ่งมีชีวิตในสวน เช่น นก หนอน แมลง สัตว์เลื้อยคลานล้วนต้องสังเวยชีวิตเพื่อสิ่งนี้........... เราทำการเกษตรเพื่ออะไร?


 



ตลกร้ายของงานนี้คือน้ำที่กินที่ผมใช้มาจากบ่อที่อยู่กลางแปลงมังคุด ถึงแม้อาจะกำชับคนพ่นยาว่าไม่ต้องพ่นต้นที่อยู่รอบบ่อน้ำ แต่ผมว่างานนี้ไม่เข้าท่าอย่างยิ่ง หากมองในภาพรวมสวนผลไม้ สวนผัก และสวนยางเกือบทั้งจังหวัดแม่งพ่นยาและใส่ปุ๋ยเคมีกันหมด ผืนดินสีเขียวแทบทุกอณูถูกฉาบไปด้วยสารพิษนานาชนิดอย่างต่อเนื่องหลังการปฏิวัติเขียว เมื่อฝนตกสารพิษที่ตกค้างจำนวนมหาศาลจะไหลลงแหล่งน้ำรอบพื้นที่การเกษตรและในที่สุดก็จะไหลลงสู่ป่าชายเลนที่เชื่อมกับทะเล หากท่านคิดว่าอาหารทะเลสะอาดปลอดภัย................โปรดคิดใหม่


 

ญาติปลูกมะละกอแซมไว้หลายจุดในแปลงมังคุด ทุกครั้งที่คนพ่นยาพวกนี้เข้ามามะละกอที่ปลูกไว้ก็จะไม่เหลือลูกสักต้น พวกเขาเก็บโดยไม่เคยขอ และเก็บโดยไม่เคยคิด ........... พวกเขาเก็บมะละกอทุกลูกที่เห็น โดยไม่ปล่อยให้สุกคาต้นเพื่อทิ้งเมล็ดไว้บ้างแม้เพียงลูกเดียว หากมะละกออยู่สูง พวกแม่งก็จะใช้ตีนเก็บ.....คือ ถีบต้นมะละกอลงมาเสียเฉย ๆ มะละกอที่ปลูกแซมในแปลงมังคุดสูญพันธุ์ทันทีที่พวกเขาจากไป พฤติกรรมของคนพวกนี้ทำให้ผมนึกถึงนิทานชาดกเรื่องพระมหาชนกที่คนชอบกินมะม่วงแต่ทำลายต้นมะม่วง พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้มากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว แต่จนถึงวันนี้หลายคนยังคงมองเพียงประโยชน์เบื้องหน้าโดยไม่เฉลียวถึงความยั่งยืนในอนาคตเลยแม้แต่น้อย




 

การปฏิวัติเขียว เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเริ่มต้นถ่ายทอดเทคโนโลยี (ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๔๐ จนถึงช่วงท้ายของทศวรรษ ๑๙๖๐) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในช่วงท้ายของทศวรรษ ๑๙๖๐ การปฏิวัตินี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Norman Borlaug หรือ "บิดาแห่งการปฏิวัติเขียว" ผู้มีชื่อว่าได้ช่วยเหลือผู้คนนับพันล้านจากให้รอดพ้นความอดอยากด้วยการพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง การขยายโครงสร้างการชลประทาน การปรับเทคนิคการบริหารให้ทันสมัย การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผสม (hybridized seeds) ปุ๋ยสังเคราะห์ และยาฆ่าแมลงให้กับเกษตรกร

 
คำว่า "การปฏิวัติเขียว" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ๑๙๖๘ โดย William Gaud ผู้อำนวยการ United States Agency for International Development (USAID) ที่กล่าวถึงการเผยแพร่ของเทคโนโลยีใหม่นี้ว่า "การพัฒนานี้และอื่น ๆ ในวงการเกษตรนำไปสู่การปฏิวัติใหม่ นี่ไม่ใช่การปฏิวัติด้วยความรุนแรงหรือ การปฏิวัติแดง ที่เกิดขึ้นในโซเวียต และนี่ก็ไม่ใช่ การปฏิวัติขาว ดังที่เกิดขึ้นในอิหร่าน ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า การปฏิวัติเขียว"
(แปลมาจาก wikipedia.org โดยผู้เขียน)

 

 
Norman Borlaug
ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
(Nobel Peace Prize 1970)
.
.
.
เช่นเดียวกันกับ Paul Müller ผู้คิดค้น DDT (1948)

 

 

***********************

 

ผมรู้สึกแปลก ๆ กับการทำสวน ช่วงนั้นงานในแปลงมังคุดอย่างเดียวที่ผมทำด้วยตัวเองคือ การติดเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรดน้ำและเดินตรวจการจ่ายน้ำของสปริงเกอร์ ส่วนงานที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ย การพ่นยาฆ่าแมลง การพ่นยาฆ่าหญ้าและคนพ่น ล้วนทำด้วยมือคนอื่น ผมรู้สึกว่ากำลังบริหารโรงงานอะไรสักอย่าง มันเป็นเวลาร่วมครึ่งปีแล้วที่ผมมาทำสวนที่นี่ทว่าผมยังไม่ได้แม้แต่จะปลูกพืชผักกินเองสักต้นเลย


 

โปรดติดตามต่อภาค ๓