Popular Posts

Wednesday, August 17, 2022

ทำอย่างไรเมื่อสวนข้าง ๆ รุกล้ำเขตทำกิน

ปัญหาตลอดชาติของเกษตรกรที่แก้ได้ด้วยปัญญาและความพากเพียร


คงไม่มีใครอยากคบคนพาล แต่ถ้ามีคนพาลเสือกเป็นมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านล่ะ ขอบอกเลยว่าแม้จะไม่ไปสุงสิงกันเลยแต่ยังไงคุณก็จะหนีจากความเกรียนของมนุษย์สายพันธุ์นี้ไม่พ้น… และนี่คืออีกหนึ่งปัญหาสุดน่ามคานที่เกษตรกรอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงจะต้องเจอทุกชาติไปป์ ๆๆๆๆ (เสียง echo ค่อย ๆ เฟดออก) ความเกรียนเริ่มได้ตั้งแต่ความเอื้อเฟื้อในเสียงเพลงที่คุณได้แต่บอกในใจว่า “มึงเคยถามกุมั่งไหมว่าอยากฟังเปล่า?” หรือการแปรรูปขยะให้มาอยู่ในลมหายใจของคุณ หรือการพ่นยาพิษข้ามเขตเข้ามา (อ้ากกกส์) ถ้าจะให้สาธยายความเกรียนจนจบทั้งคนเขียนและคนอ่านก็คงจะต้องมีอายุยืนยาวมาก ๆ เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามถึงแม้อีสวนข้าง ๆ จะเกรียนขนาดไหน แต่คุณก็อาจอุ่นใจได้บ้างตราบใดยังมีหลักหมุดและเส้นบาง ๆ ที่มองไม่เห็นที่คอยกั้นไม่ให้มนุษย์สายพันธุ์นั้นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของคุณ แต่ถ้าพวกนั้น (พวกมัน) ก้ามข้ามเส้นแบ่งเขตแดนและขีดความอดทนของคุณล่ะ


ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน (2557) ผมออกจากสวนมาทำงานในเมืองเพื่อหาทุนมาปรับปรุงสวนครั้งใหญ่ ผมยังคงกลับมาสวนอยู่เรื่อย ๆ เพื่อดูแลไม้ป่าที่ปลูกไว้ และตรวจตราความเรียบร้อยทั่วไป หลายครั้งที่กลับมาผมเห็นว่าต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมแดนถูกขโมยไป ด้วยเหตุที่ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนตัดจึงไม่มีประโยชน์อะไรหากผมจะไปแจ้งความ สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือการเอาผ้าสี ๆ มาผูก แต่ความหลอนหรือจะสู้ความเลว


ต้นปี 2560 ผมพบว่าต้นยางขนาดใหญ่ที่มุมสวนหายไป มันไม่ได้หายไปแบบถูกตัดเฉย ๆ แต่หายไปแบบถูกขุดออกไปทั้งโคน ความสำคัญของต้นยางต้นนี้คือ ‘เธอ’ ถูกปลูกไว้ชิดหลักหมุดของที่ดิน นั่นหมายความว่าหลักหมุดย่อมกระเด็นหายไปด้วย เชี่ยยยย… (เสียงสูงแบบเร่งความถี่)  



โดยปกติหลักหมุดกำหนดเขตแดนจะเป็นแท่งปูนทรงกระบอกเล็ก ๆ ขนาดประมาณแก้วพลาสติกใส่กาแฟเย็น ซึ่งมันหายและถูกย้ายได้ง่ายมาก หลายสวนแก้ปัญหาด้วยการนำเสาปูนมาปักไว้ข้าง ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ เสาปูนก็ยังถูกขุดออกไปได้ สวนของเราจึงใช้วิธีปลูกไม้ใหญ่ไว้ชิดหลักเขตกะว่าถึงหมุดและเสาปูนจะหายหรือถูกย้ายไปปักที่อื่น แต่ยังไงอีสวนข้าง ๆ ก็คงจะไม่มีปัญญาขยับต้นไม้ได้แน่ แต่เราคิดผิดเพราะใครจะไปคิดว่าอีสวนข้าง ๆ มันจะเลวขนาดเอารถแบ็คโฮขุดต้นไม้ออกไปเลยจ้าาาา…..


ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเสาปูนมาปักเรียงห่าง ๆ กันเป็นแนวเขตโดยเล็งจากหลักหมุดที่ยังอยู่และแนวต้นไม้ที่ยังไม่ถูกตัด วันรุ่งขึ้นมนุษย์สายพันธุ์สวนข้าง ๆ ก็มาโวยบอกว่าผมปักหลักเข้าไปในพื้นที่ของแก ผมแย้งว่ามันเป็นไปไม่ได้ และจริง ๆ แล้วสวนเราก็ไม่ได้ติดกัน เพราะถ้าหากดูตามโฉนด (สปก.) ก็จะเห็นว่ามีลำห้วยสาธารณะคั่นอยู่ตรงกลาง 














เดาได้ไม่ยาก เหตุผลคงมิอาจเอาชนะความเรื้อนของมนุษย์สายพันธุ์นี้ ผมเลยบอกให้ไปคุยกันที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่มาพิสูจน์หลักหมุด 


ไม่ถึงชั่วโมงหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องไป โดยขอให้ผมอย่าเพิ่งล้อมรั้วจนกว่าการพิสูจน์จะเสร็จสิ้น 


เวลาผ่านไปหลายปี ยังคงไม่มีการติดต่อใด ๆ จากทาง สปก. อยู่มาวันหนึ่งผมมีเหตุต้องเข้าไปที่นั่นเพื่อติดต่อธุระเรื่องอื่นผมจึงถือโอกาสตามเรื่องนี้ไปด้วย เจ้าหน้าที่ก็ฟังเฉย ๆ ไม่ได้จดอะไร ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่าพวกเขาคงจะไม่ทำห่าอะไรเช่นเดิม ผมก็ได้แต่ทำโง่ ๆ ใบ้ ๆ ไปพลาง ๆ เพราะอีสวนข้าง ๆ ก็ยังไม่รุกข้ามมาหลังเขตแดนชั่วคราวที่ผมปักไว้


หลายปีต่อมาผมเดินสำรวจบริเวณที่มีปัญหาแล้วสังเกตว่าต้นไม้หลายต้นดูแห้งผิดปรกติ เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ จึงเห็นว่าต้นไม้ที่อยู่แถวนั้นถูกถากเปลือกออกเพื่อให้ยืนต้นตาย แน่นอนการพิสูจน์เพื่อหาตัวผู้ลงมือคงจะไกลเกินสามารถของผม แต่เรื่องนี้มีความเป็นไปได้  2 อย่าง คือ


  1. สวนข้าง ๆ ที่รุกลำห้วยสาธารณะข้ามมาไม่ชอบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ชายขอบที่ดินของผม เพราะไปบังแสงทุเรียนที่พวกเขาเพิ่งปลูก 

  2. มีมือที่สามมาเกรียน เพราะต้องการสร้างความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น ประเด็นนี้เป็นไปได้ยาก แต่ผมก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้นี้ออกไป 





ไม่ว่าจะด้วยเหตุในก็ตาม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องต่อสู้เพื่อความชอบธรรมและยับยั้งพฤติกรรมเลว ๆ ของคนเหล่านี้บ้าง ที่ผ่านมาผมเล่นแต่เกมส์รับด้วยการขอให้ สปก มาชี้ตำแหน่งหลักหมุดเพื่อระงับข้อพิพาทและเพื่อไม่ให้พวกนั้นรุกล้ำดินแดนข้ามมา แต่คราวนี้ผมจะเล่นเกมส์รุกบ้างโดยใช้ประเด็นการรุกลำห้วยสาธารณะเพื่อให้พวกนั้นต้องถอยไปไกล เดิมทีเรื่องนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนแต่ผมจะทำให้มันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐที่มีความผิดอาญาเป็นรางวัลอีกด้วย นอกจากนั้นประเด็นการรุกห้วยสาธารณะอยู่ในความดูแลของ อบต. ซึ่งทำงานเร็วกว่า สปก. มาก ผมจึงเชื่อว่าการรุกกลับครั้งนี้น่าจะหวังผลได้ 


มิถุนายน 2564 ผมไปยื่นคำร้องเรื่องการบุกรุกห้วยสาธารณะที่ อบต. เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากนั้นไม่กี่วันเจ้าหน้าที่จากทาง อบต. ก็ได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ แต่เนื่องจากหลักหมุดและลำห้วยได้ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่อีกจักรวาลแล้ว ทาง อบต. ก็ไม่รู้จะชี้หลักเขตยังไงจึงส่งหนังสือไปยัง สปก. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่เข้ามารังวัดเพื่อกำหนดแนวเขตให้แน่ชัด โดยทาง อบต. ยังทำหนังสือแจ้งความคืบหน้ามาให้ผมรับทราบด้วย


เวลาล่วงเลยมาถึงปลายปี ก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่า สปก. ก็ไม่ได้ทำห่าอะไรเช่นเดิม ขนาดเจ้าหน้าที่ของ อบต. ก็ยังถามว่าทาง สปก. ได้ติดต่อมาบ้างไหม ผมคิดว่าควรจะตามเรื่องได้แล้ว เพราะถ้าหากปล่อยให้ทุเรียนในสวนนั้นโตไปมากกว่านี้การจะทำให้พวกนั้นยอมถอยออกจากที่สาธารณะก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย 


ผมเข้าไปตามเรื่องที่ สปก. ในเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรบอกแค่เพียงว่าเดี๋ยวจะติดต่อกลับไปเอง ราวสี่เดือนหลังจากนั้นผมกลับเข้าไปอีกครั้ง พวกเขาบอกว่าช่วงนี้ทำงานที่อำเภออื่นอยู่ให้โทรมาถามเรื่อย ๆ หน้าฝนใกล้เข้ามาทุกทียังคงไม่มีความคืบหน้าอะไร ถ้าฝนมาแล้วการเข้าพื้นที่จะเป็นเรื่องทุลักทุเลผมจึงโทรไปสอบถามในเดือนพฤษภาคม ทางนั้นบอกว่าถ้าประสานงานกับ อบต. ได้แล้วสิ้นเดือนจะโทรกลับ แต่สิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น นี่ก็ห้าปีกว่าแล้วนับแต่การขอให้ทาง สปก. มาตรวจสอบ แล้วอีกไม่นานก็จะครบปีที่มาร้องเรียนเรื่องการรุกห้วยสาธารณะด้วย ผมจะต้องรอคอยอย่างสิ้นหวังไปถึงเมื่อไร…งานไม่ยากเลย แต่ทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนี้ เรื่องนี้ชักดูไม่ชอบมาพากล …แล้วใครล่ะที่จะช่วยอะไรผมได้ 

.

.

.

นอกจากตัวผมเอง…

.

.

.

Chain of command


ผมชั่งใจอยู่พักนึงว่าผมควรจะร้องเรียนไปทางผู้ว่า หรือ จะร้องเรียนไปทางอธิบดี ฤดูฝนคงไม่มีความหมายกับพวกเขาเท่ากับฤดูการแต่งตั้งโยกย้าย คิดไปคิิดมาคนที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายสั่งการน่าจะอยู่ที่อธิบดีมากกว่าเพราะยังไงก็อยู่ในกรมเดียวกัน คืนนั้นหมดไปกับการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ซากหนังสือร้องเรียน “ชิ้น” แรกเมื่อห้าปีก่อน จนถึงหนังสือที่ทาง อบต. แจ้งให้ทราบว่าได้ขอความอนุเคราะห์ไปยัง สปก. แล้ว วันรุ่งขึ้นเอกสารทั้งหมดถูกส่งไปยังเลขาธิการ สปก. (น่าจะเป็นเว่ลเดียวกับอธิบดีตามโครงสร้างของกรมนี้) ภายใต้จดหมายปิดหน้าที่ขอความอนุเคราะห์สั่งการ โดยมีเนื้อหาชื่นชมการทำงานของ สปก. ในพื้นที่ตามความเป็นจริง ผมรู้สึกมีความหวังขึ้นมาบ้าง


แต่สองเดือนผ่านไปยังคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น จดหมายตอบรับสักฉบับก็ยังไม่มี  โว้ยยยยยยยย……………กรมนี้มันเป็นอะไรกันหมดวะเนี่ยยยยยย ผมรู้สึกถอดใจอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเขียนจดหมายถึงเลขาธิการแล้วยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อไปคงต้องเขียนจดหมายไปถึงปลัดกระทรวง แล้วถ้ายังเงียบอีกก็ต้องเขียนไปถึงรัฐมนตรีใช่ไหม แล้วถ้ามันยังเงียบอีกล่ะ……..


“ลองเขียนไปหาเลขาธิการอีกที เขาอาจจะสั่งการมาแล้ว แต่ทางพื้นที่คงไม่อยากจะทำเลยทำเป็นหูทวนลมเอาไปดองไว้อย่างนั้น แล้วทางนู้นก็ไม่ได้สนใจจะติดตาม ให้โอกาสเขาหน่อย ทางเลขาธิการก็จะได้รู้ด้วยว่าทางนี้ทำงานกันยังไง” ข้าราชการคนแรกในชีวิตที่ผมรู้จักช่วยสอนมวยให้


วันรุ่งขึ้นจดหมายอีกฉบับก็เดินทางเข้ากรุงพร้อมกับความหวังอันเลือนลาง ถึงแม้ว่ามันจะเลือนลางเพียงใด แต่ตราบใดที่มีความหวังและความพยายามประตูแห่งโอกาสก็จะไม่ถูกปิดลงด้วยมือของเราเอง


ไม่กี่วันต่อมามีเสียงเรียกเข้าจากทาง สปก. เจ้าหน้าที่ขอนัดลงพื้นที่ในวันรุ่งขึิ้น ห๊ะ!!! วันรุ่งขึ้น บทจะมาก็มาง่าย ๆ เลย จะว่าไปการนัดตรวจสอบนี่ถืิอว่าไม่ง่ายเลยเพราะจะต้องมีทั้งคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตัวแทนจาก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนทาง สปก. ก็จะมีทั้งช่างและนิติกร 





การรอคอยอันยาวนานสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าหน้าที่นำเครื่องมือไปวัดตำแหน่งจากหลักหมุดที่ยังอยู่แล้ว เดินกลับมาชี้ตำแหน่งหมุดที่หายไป ซึ่งก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ผมปักเสาเพื่อจะล้อมรั้ว 


“สวนนี้ต้องถอยไปนะครับ” ตรงนี้เป็นลำห้วย เจ้าหน้าที่บอกกับสิ่งมีชีวิตที่ทำสวนแปลงข้าง ๆ 


“ตอนนี้เราได้ตำแหน่งโดยคร่าว ๆ แล้ว เดี๋ยวเราจะกลับไปทำแผนที่โดยละเอียดแล้วกลับมาปักหมุดนะครับ เดี๋ยวผมจะอ่านบันทึกถ้อยคำให้ฟังแล้วขอให้ทุกคนลงนามนะครับ”


ถ้าคุณเคยดูละครน้ำเน่าก็คงพอจะนึกออกได้ว่าคนพวกนั้นจะพูดแก้เสียหน้าประมาณไหน


“จะขุดให้เดี๋ยวนี้เลย รถแม็คโครก็อยู่ตรงนี้” (เดี๋ยวก่อนมึง หมุดยังไม่ได้ปัก พอวัดจริงเดี๋ยวจะได้รู้ว่าต้องถอยไปไกลกว่านั้นอีก” 


“เรายอมถอยก็ได้ จะได้ไม่มารังแกพวกเราอีก” (เด๋ว ๆ มึง ดมกาวมาผิดหลอดป่าว)


จะว่าไปผมก็ไม่ควรจะคาดหวังความสำนึกอะไรจากสิ่งมีชีวิตสวนข้าง ๆ นี้ เพราะถ้าหากพวกเขามีความละอาย (ความเกรงกลัวต่อบาปคงไม่ต้องฝัน) และจิตสำนึกอยู่บ้าง พวกเขาก็คงจะไม่ทำอะไรแบบนั้นตั้งแต่แรก แต่หากมองลงไปกว่านั้นจริง ๆ แล้วทั้งพวกเขาและตัวผมเองก็ไม่มีใครได้หรือเสียอะไรเลย ที่ดินของผมก็อยู่เท่าเดิม พวกนั้นจะมาอ้างสิทธิ์ไม่ได้อีกต่อไป ส่วนพวกนั้นก็ต้องถอยไปทำกินในที่ดินของตนเอง พวกเขามิอาจและมิเคยครอบครองลำห้วยอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้เสียอะไรด้วยเช่นกัน


กระบวนการนี้ใช้เวลานานมากแต่ผมก็เชื่อว่ามันจะจบลงแบบที่ควรจะเป็น แม้ว่าเรามิอาจจะเลือกเพื่อนบ้านหรือเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ แต่มันก็ยังมีกระบวนการที่จะควบคุมไม่ให้พวกเขาทำอะไรตามอำเภอใจ ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราใช้ปัญญาและความเพียรจนถึงที่สุดแล้วประตูแห่งโอกาสก็จะไม่ถูกปิดลงด้วยมือของเราเอง


Monday, December 03, 2018

เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2 บนเส้นทางที่เลือกเอง - ตอนที่ 2 - บนถนนที่ไม่เห็นปลายทาง

เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2  บนเส้นทางที่เลือกเอง - ตอนที่ 2 - บนถนนที่ไม่เห็นปลายทาง

กลางฤดูฝนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรได้มาบรรยายที่วัดในชุมชนเกี่ยวกับการดูแลผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว สาระสำคัญของการบรรยายคือ การแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การอดน้ำ การให้น้ำ และการตรวจดิน หลักการคือต้นไม่หลังฤดูการเก็บเกี่ยวจะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งประกอบด้วยการปีนขึ้นไปเหยียบกิ่ง และการยืนปละเดินย่ำที่โคนต้นเป็นเวลานานระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยว กิ่งที่หักควรตัดออกเพราะจะให้ผลผลิตน้อย เช่นเดียวกับกิ่งกระโดงที่ไม่ได้รับแสงเพราะจะไม่ให้ผลผลิตหรือให้ผลผลิตน้อยเช่นกัน หน้าดินที่ได้รับความเสียหายก็ควรจะใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงราก เจ้าหน้าที่แนะนำให้ใส่ปุ๋ยซึ่งมีหลักคิดคือ ถ้าใส่ปุ๋ยเร็วไปมังคุดก็จะผลิใบเร็ว นั่นเหมือนจะดีแต่ก็ไม่ดีเสมอไป เพราะถ้ามังคุดผลิใบแล้วแต่ฝนยังไม่หยุดมังคุดก็มีโอกาสที่จะผลัดใบอีกครั้งในช่วงปลายฤดูฝนซึ่งจะทำให้ออกดอกช้ากว่าต้นที่ผลัดใบในจังหวะที่พอดี หากทำให้มังคุดออกเร็วได้มากเท่าไรก็จะมีโอกาสขายในราคาที่สูงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเกษตรกรจึงอัดปุ๋ยกันอย่างหนักในช่วงเวลานี้เช่นกัน ส่วนเรื่องการอดน้ำและให้น้ำนั้นขอไม่พูดถึงเพราะเหมือนกับที่ได้อธิบายไปแล้วใน EP1 เรื่องสุดท้ายคือการตรวจดินซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนำว่าควรเก็บตัวอย่างดินไปตรวจเป็นประจำเพื่อให้รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของดินในสวนนั้นเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถปรับปรุงดินได้อย่างเหมาะสม วิธีการเก็บตัวอย่างคือให้ปาดใบไม้ที่หน้าดินออกก่อนแล้วขุดลงไปหนึ่งหน้าจอบ จากนั้นให้ปาดดินที่หน้าจอบใส่ถุงเก็บตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากทั่วแปลง นำดินที่เก็บได้มารวมกันผึ่งลมซักสองสามวันแล้วส่งมาตรวจที่หน่วยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


ในฤดูการที่จะถึงนี้ การใส่ปุ๋ยจึงเป็นงานแรกบนถนนสายใหม่ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยลงไปทันทีเพราะต้องตัดหญ้าให้เสร็จก่อน ผมเลือกควบคุมวัชพืชด้วยการตัดหญ้าแทนการพ่นยาแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลามากกว่าเพราะไม่ต้องการทำร้ายแผ่นดินผืนนี้อีกต่อไปแล้ว แต่ที่ตลกก็คือคนที่มาตัดหญ้าก็เป็นทีมงานเดียวกันกับคนที่เคยมาพ่นยาในสวน หรือทีมที่เก็บมะละกอด้วยตีน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน EP1) ผมเองก็ไม่มีตัวเลือกอื่นเพราะแถวนั้นผมก็ไม่รู้จักใครแล้ว และญาติก็ยืนกรานว่าผมตัดหญ้าเองไม่ได้

ค่าจ้างตัดหญ้าในสมัยนั้นจะคิดตามจำนวนครั้งที่เติมน้ำมันลงในถังของเครื่องตัดหญ้าสะพาย โดยคิดถังละ ๑๒๐ บาท ของผมใช้ไป ๒๓ ถังจึงเสียเงินไป ๒,๗๖๐ บาท นอกจากนั้นยังมีค่าน้ำมันเบนซินและออโตลูปอีก ซึ่งเจ้าของสวนจะต้องซื้อมาให้ คราวนั้นซื้อน้ำมันไป ๘๐๐ บาท ส่วนออโตลูปมีอยู่แล้วเลยไม่ต้องซื้อ


(แปลงมังคุดหลังการตัดหญ้า)

ประมาณ 4-5 วันทีมงานก็ตัดหญ้าในแปลงเสร็จ นอกจากหญ้าแล้วทีมงานยังแถมตัดหัวน้ำสปริงเกอร์ไปหลายหัว (แต่ไม่บอกกูซักคำ) ทำให้ผมต้องเสียเวลาไปเดินตรวจทั้งแปลง เพราะถ้าไม่รีบซ่อม มดจะเข้าไปทำรังทำให้เกิดปัญหาในการรดน้ำในฤดูการต่อไปได้ การตรวจงานทำให้ผมได้เห็นความมักง่ายอย่างอื่นอีก เช่น ขยะสารพัดอย่างไม่ว่าจะเป็นถุงแกง กระป๋อง อาหาร ถึงพลาสติก ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ซองบุหรี่ ก้นบุหรี่ ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเต็มสวน ผมเซ็งมากแต่ยังคิดไม่ออกว่าจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร...

จบงานก็จ่ายเงิน ผมเดินเอาเงินสดไปให้หัวหน้าทีม หนึ่งในทีมงานคีบบุหรี่ขึ้นมาดูดแล้วก็โยนซองบุหรี่ลงพื้นทันทีที่หัวหน้าทีมรับเงิน

เย็ดเข้ ต่อหน้ากูยังทิ้ง!!!ผมตะโกนด่าด้วยแววตา ก่อนได้ข้อสรุปกับปัญหานี้ว่า

ต่อไปนี้กูจะตัดหญ้าเอง!!!”  

(ท่อน้ำที่ได้รับการซ่อมแซม)

ในที่สุดก็ได้เวลาการใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยในครั้งนี้จะใช้มูลสัตว์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี แม้จังหวัดที่ผมอยู่จะไม่ใช่ภูมิภาคที่มีการเลี้ยงสัตว์ใหญ่และเป็ดไก่มากซักเท่าไร แต่มูลสัตว์ก็เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก จะว่าไปร้านการเกษตรแถวนั้นก็มีแทบจะมีทุกขี้ที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นขี้วัว ขี้ไก่ ขี้หมู ขี้ค้างคาว ครั้งนั้นผมเลือกใช้ขี้หมู (ถุงละ ๒๐ บาท) ซึ่งถูกกว่าขี้วัวที่มีราคาถุงละ ๓๕ บาท (แต่ถุงใหญ่กว่า) ผมใช้เงินไปทั้งหมด ๒๐ x ๔๕๗ = ๙,๑๔๐ บาท ซึ่งแพงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งตกครั้งละ ๗,๒๐๐ บาท...ทำอินทรีย์ไม่ถูกกว่าเคมีเสมอไปนะจ๊ะ

(ร้านขายมูลสัตว์)

การใส่ปุ๋ยคอก (โดยเฉพาะขี้หมู) น่าจะเป็นงานที่ทรมานที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมันเหม็นเอามาก ๆ ผมให้ต้นไม้โดยตรงโดยไม่ทำการหมัก ด้วยความที่ขี้หมูติดกันเป็นตังเมไม่ร่วนเหมือนปุ๋ยเคมีงานนี้จึงใช้เวลานานกว่าที่เคย ความเหม็นของมันทำให้ผมปวดหัวอย่างบอกไม่ถูก เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วชีวิตก็ยังไม่กลับสู่ความสงบสุขเพราะผมจะต้องทนกับแมลงวันที่มากับขี้หมูไปร่วมอาทิตย์
(หมายเหตุ: ไม่ควรใส่มูลสัตว์โดยตรง ควรทำการหมักก่อน หรือ อย่างน้อยก็วางทิ้งไว้เฉย ๆ จนหายร้อน [age] เพื่อลดการแพร่ของเชื้อโรค และให้มูลสัตว์อยู่ในสภาพที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ง่าย)

เชี่ย...ทั้งเหนื่อยทั้งเหม็นขนาดนี้ มิน่าคนหันมาใช้ปุ๋ยเม็ดกันหมดผมสบถออกมาอย่างสุภาพโดยมีผมยืนรับฟังอย่างเข้าใจ

**********************************************
ช่วงนี้หมาในสวนคลอดลูกกันหลายครอก เมื่อถึงเวลาหมาพวกนี้ (free range dog) จะไปหาซอกหลืบซักมุมในสวนตามสัญชาติญาณเพื่อคลอดลูกในที่ที่มันคิดว่าปลอดภัย แต่ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนในสวนญาติผมก็จะหาเจอทุกครั้ง ผมรู้สึกทึ่งในความเพียรของแกในการตามหาหมาที่ซ่อนอยู่ซักมุมในสวนขนาด ๒๐๐ ไร่ของแก เมื่อพบแล้วแกก็จะเดินถืออาหารไปให้ทุกวัน

หมาที่คลอดชุดแรกคือแจ็ครัสเซล เมื่อหย่านมแล้วญาติขายไปหนึ่งตัว ให้คนรู้จักไปหนึ่งตัว ที่เหลืออีก ๒ ตัวญาติของผมเก็บไว้เอง ผมเห็นแล้วก็ไม่อยากเลี้ยงหมาซักเท่าไร เพราะไม่อยากพรากแม่พรากลูกเมื่อเวลาแบบนี้มาถึง หลังจากนั้นไม่นานหมาลูกผสม (บางแก้ว - โกลเดนท์รีทรีฟเวอร์) ที่ไปผสมกับบางแก้วอีกตัวก็คลอดลูก ญาติแนะนำแกมบังคับให้ผมเลี้ยงไว้หนึ่งตัวก่อนที่จะแจกส่วนที่เหลือจนหมด

“...เราอยู่ข้างในสวนคนเดียว ไม่มีหมาใหญ่ไม่ได้...

ผมจำไม่ได้ว่าค่าอาหารหมาของญาตินั้นตกปีละเท่าไร แต่ที่แน่ใจคือมันเป็นเงินหลักหมื่นแน่นอน นอกจากนั้นมันยังทำให้ญาติผมไม่ยอมออกไปนอนค้างนอกสวน หรือกลับสวนในเวลาค่ำ เพราะจะต้องรีบกลับมาให้อาหารหมา

“ติดคุกชัด ๆ” หมาไม่ได้กล่าว แต่ผมรู้สึกอย่างงั้น “กำไรจากสวนปีละสามหมื่นเจอค่าอาหารหมาไปปีละหมื่นแล้วจะให้ผมแดกกินอะไร”


ผมก็อึกอัก ๆ ก่อนที่จะไปเลือกลูกหมาตัวผู้มาตัวนึง จะได้ไม่ต้องกังวลว่ามันจะท้อง มันเป็นหมาลูกผสมสีขาว ขนยาวปุกปุย มีปานน้ำตาล ๒ โทนที่ข้างลำตัว แววตาดูเศร้า ๆ ผมตั้งชื่อมันตามลักษณะภายนอกว่า “เจ้าฟู”



ช่วงนั้นญาติต้องไปผ่าตัดที่กรุงเทพฯ จึงต้องพักฟื้นอยู่ที่นั่นพักใหญ่ ผมจึงต้องอยู่ประจำการในสวนเพื่อให้อาหารหมา งานนี้ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อยและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงมาก หมาแจ็ครัสเซล 3 ตัวถือว่าไม่ยาก เพราะมันไม่ดุและนอนอยู่ที่ระเบียงบ้านเช่นเดียวกับเจ้าฟู และหมาโกลเด้นฯ ถัดออกไปจากรัศมีบ้านประมาณหนึ่งช่วงรัศมีตด จะมีหมาบางแก้วมารอผมให้อาหาร เทคนิคในงานนี้ก็คือผมจะต้องให้อาหารตัวที่ดุที่สุดก่อนเพื่อไม่ให้มันไปแย่งตัวอื่นกิน จากนั้นจึงรีบไปให้ตัวที่เหลือ หมาพวกนี้ดุมาก ขนาดเอาอาหารไปให้ยังไม่วายแยกเขี้ยวใส่ผม ส่วนเจ้าหมีซึ่งเป็นแม่เจ้าฟูไม่สามารถเข้ามาในบริเวณบ้านได้เลย เพราะจะถูกหมาบางแก้วกัด ผมจึงต้องเดินเอาอาหารไปให้ที่เรือนเพาะชำซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร!


**********************************************
โรงหมักปุ๋ย

ก่อนที่ญาติจะไปกรุงเทพฯ แกเอานิตยสารเล่มหนึ่งมาให้ยืม บอกว่าถ้าสนใจทำเกษตรอินทรีย์จริง ๆ ลองไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์สิ...

ปุ๋ยเคมีมันมีแต่ N P K แต่พืชต้องการธาตุอาหาร 20 กว่าชนิด ให้อยู่แค่นั้น ทำไปนาน ๆ ดินมันก็พังสิ...” (อ้างอิงจากความทรงจำของผม)

เหยด...ง่าย ๆ แต่ใช่เลย

ผมอ่านคอลัมน์นั้นจนจบ ชื่อศูนย์ฯ มาบเอื้องนั้นคุ้นหูผมมาก แต่ผมนึกไม่ออกว่าเคยได้ยินมาจากที่ไหน ก่อนจบคอลัมน์ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลติดต่อสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้ารับการอบรม  แต่พอเห็นรูปผู้เข้าอบรมที่ต้องมายืนเข้าแถวผูกผ้าพันคอก็ทำให้ผมยังไม่คิดจะไป...

รีบทำโรงหมักปุ๋ยให้เสร็จดีกว่า

หลังจากที่ร่างแบบคร่าว ๆ ในกระดาษเสร็จผมก็เริ่มตัดไผ่ตงมาทำเสา ผมต้องการให้หลังคาเป็นทรงเห็ดและมุงด้วยจากเพื่อให้งานดูเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด จะว่าไปตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยมั่นใจว่างานหลังคาจะออกมายังไงเพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็ลงมือทำเพราะเกรงว่าถ้ามัวแต่คิดก็คงจะไม่ได้เริ่มเสียที

 
ผมทำโครงสร้างหลักด้วยตัวคนเดียว ระหว่างทำงานบางครั้งก็รู้สึกวังเวง เพราะเป็นมนุษย์คนเดียวที่อยู่ในสวนในช่วงนั้น แต่ก็มีเจ้าฟูมาเล่นเป็นเพื่อนคลายเหงา เวลาไม่กี่วันหลังจากนั้นโครงสร้างหลักก็เสร็จ แม้แต่ตัวผมเองก็ยังงง ๆ ว่าทำออกมาได้อย่างไร งานนี้ไม่ยากแต่ยุ่งยากเพราะไม่มีใครมาช่วย แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงทำให้ผมหาทางไปต่อจนได้



งานต่อมาคือวางไม้ระแนงโชคดีที่แฟน (แอ๊น) แวะมาช่วงนั้นพอดีทำให้ผมไม้ต้องปีนขึ้นปีนลงหลายรอบ จากนั้นผมซื้อใบจากมามุงเพราะมันถูกกว่าหญ้าคา งานนี้หมดไป ๗๕๐ บาท...แพงกว่ากระเบื้องซะงั้น ผมให้คนงานของญาติมามุงหลังคาให้เพราะจะต้องทำงานอื่น ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังนั้นโรงหมักปุ๋ยก็พร้อมใช้งาน



**********************************************
ย้อนเวลามาซักนิด ก่อนที่จะทำโรงหมักปุ๋ยผมได้นำดินไปตรวจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ครั้งแรกผมเอาตัวอย่างดินไปส่งที่กรมพัฒนาที่ดินในท้องที่ ซึ่งผมได้ถั่วพร้าเป็นของแถมกลับมา แต่สิ่งที่อยากได้ที่กว่านั้น (ผลตรวจ) ไม่เคยมาถึงมือผม....ดูท่าจะไม่ดี ผมจึงเก็บตัวอย่างดินอีกครั้งแล้วนำไปส่งที่สถานีวิจัยพืชสวนที่จันทบุรี ความยากไม่ใช่การเก็บดินหรือตรวจ แต่คือการโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ยอมส่งผลตรวจมาที่บ้านกรุงเทพของผมซึ่งอยู่นอกพื้นที่บริการของสถานีวิจัย

ถ้าไปรษณีย์มาส่งถึงสวนอะไร ๆ ก็คงจะง่ายกว่านี้มาก

หลายเดือนหลังจากนั้นผลตรวจส่งมาถึงบ้าน ผมตรวจมาเป็นตัวเลขแห้ง ๆ ซึ่งผมในตอนนั้นก็ไม่มีปัญญาจะแปลความหมาย (ยกเว้นค่า pH) ผมจึงโทรไปสอบถามจากสถานีวิจัยฯ ก่อนได้คำตอบว่า ดินในสวนมีว่าเป็นกรดมาก (pH 4.3) ค่าอินทรียวัตถุต่ำ แคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำ ในขณะที่ค่าฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) สูงมาก (ประมาณสามเท่าของที่พืชต้องการ ซึ่งเกิดจาการใช้ปุ๋ยเคมีต่อติดต่อกันเป็นเวลานาน)

แม้ดินจะเป็นกรดอย่างมาก แต่ค่า P และ K ที่สูงทำให้ผมคลายความกังวลไปได้ว่าพืชจะขาดธาตุอาหารหากเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ (คือผมไม่มีเงินมากมายที่จะซื้อมูลสัตว์มาใส่แทนปุ๋ยเคมี) สิ่งที่ต้องทำคือลดความเป็นกรดของดินเพื่อให้พืชสามารถนำแร่ธาตุในดินมาใช้ได้

อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าผมไม่ได้รับผลการตรวจดินจากกรมพัฒนาที่ดิน ดังนั้นผมจึงไม่สามารถที่จะขอปูนเพื่อมาปรับสภาพดินได้ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมไปซื้อปูนโดโลไมท์มาจากร้านขายอาหารอาหารกุ้งในเมือง โดโลไมท์หาได้ไม่ยากเพราะที่นี่มาการเลี้ยงกุ้งกันมาก เมื่อคำนวนแล้วงานนี้ผมต้องใช้ปูน ๓ ตันครึ่ง ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ ๗,๐๐๐ บาท ปูนถุงหนึ่งหนัก ๒๕ กิโลกรัม ผมต้องการใส่รอบโคนต้นละ ๘ กิโลกรัม ดังนั้นในช่วงแรกผมจึงต้องเอาตราชั่งมาไว้แถวนั้น ทำไปซักพักผมก็พบภาชนะที่ตวงได้น้ำหนัก ๘ กิโลพอดี ทำให้ไม่ต้องใช้ตราชั่งอีกต่อไป

(ปูนโดโลไมท์ที่ถูกโรยอยู่บนหน้าดิน)

กว่าจะเสร็จก็เล่นเอามึนเพราะผมต้องทำประทักษิณเพื่อโรยแป้งให้กระจายรอบโคนต้นมังคุดทุกต้น แปลงมังคุดที่ปลูกเชิงเดียวมันดูเหมือนกันไปหมด เดินตรง ๆ ยังงง แล้วเดินวนจะไปเหลืออะไร ช่วงวันหยุดแอ๊นผมมาช่วยอีกเช่นเคย เราจึงแบ่งกันทำคนละแถว ช่วงปลายแถวมังคุดจะเปลี่ยวมากเพราะมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่มังคุด แฟนบอกเจ้าฟูว่าให้อยู่เป็นเพื่อนหน่อยแล้วมันก็นั่งอยู่ตรงนั้น

เสร็จงานนี้ผมกลับมาตัดหญ้าตรงป่าที่ผมปลูกใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากที่ปลูกไปไม่กี่เดือนหญ้าก็ขึ้นท่วมแปลง แถมกล้าไม้บางต้นก็ถูกเถาวัลย์พันจนเสียทรง การหญ้าด้วยรถแทรกเตอร์จึงทำให้ไม้ป่าของผมเสียหายไปพอสมควรเพราะหากรถไปเกี่ยวเอาเถาวัลย์ที่พันต้นอยู่ต้นไม้ก็จะถูกถึงตามรถไป บางครั้งผมก็ขับชนต้นไม้เพราะมองไม่เห็นหลังไม่ไผ่ที่ปักเอาไว้เนื่องจากหญ้าสูงมาก หลังจากนั้นพวกเราก็เข้าไปถางหญ้าและเถาวัลย์รอบโคนต้นด้วยมีดขอ มีต้นไม้ที่ไม่รอดจำนวนหนึ่งเราจึงรีบปลูกซ่อมให้เร็วที่สุดก่อนที่ฝนจะหมด

**********************************************
ปลายฝนต้นหนาว
ผมกลับมาตัดหญ้าที่แปลงมังคุดอีกครั้งด้วยตัวเอง คราวนี้ผมมีอาวุธใหม่สองชิ้นคือ เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายสี่จังหวะ และเครื่องตัดหญ้ารถเข็นแบบ Off Road

สาเหตุที่ผมต้องซื้ออาวุธใหม่ก็คือผมไม่ต้องการจะทนกลิ่นเหม็นและความหนวกหูจากเครื่อง ๒ จังหวะ อุตส่าห์หนีเมืองมาสวนแล้วจะมาดมควันเชี่ยนี่อีกทำไม สตาร์ทกว่าจะติดก็ชาตินึงแถมเวลาใช้ก็จะต้องเสียเวลาผสมออโต้ลูปอีก เครื่องดับง่ายมาก ตะแคงนิดเอียงหน่อยก็ดับแล้ว ซึ่งจะต้องเสียเวลาถอดออกมาสตาร์ทเครื่องใหม่อีก จะว่าไปเครื่องนี้ก็ซื้อมาถูก ๆ ถ้าจำไม่ผิดคือ ๒ พันกว่าบาท แต่บทเรียนที่ได้คือเครื่องมือบางอย่างควรซื้อของที่ได้มาตรฐานไปเลยดีกว่า


(มังคุดที่แตกใบในช่วงปลายฝน)

การตัดหญ้าใช้เวลาไปเกือบสามอาทิตย์ต่างจากการพ่นยาที่ให้เวลาเพียงวันเดียวอยู่มากโข แต่ผมก็เต็มใจและพอใจที่จะทำแบบนี้ หลังจากนั้นผมก็เริ่มงานต่อไปทันทีซึ่งเป็นงานที่สำคัญมากและเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางบนถนนสายนี้นั่นก็คือ การห่มดิน

ผมคราดเอาหญ้าที่ถูกตัดในบริเวณนั้นมาคลุมโคนต้นมังคุด ตรรกะง่าย ๆ ของผมก็คือคลุมให้โคนไม่ให้โดนแดดโดยตรง ช่วยลดการระเหยของน้ำเพื่อให้รากแตกออกมามาก ๆ และตัวฟางเองก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย เช่นเดียวกับทุกงานหลักแอ๊นมาช่วยผมในวันหยุด คราวนี้ผมบ่นเป็นหมีกินผึ้งว่าคลุมดินไม่ได้เรื่องเลยให้ไปทำใหม่แอ๊นทำหน้างง ๆ ว่ามันจะสำคัญอะไรนักหนา

ระหว่างการห่มดินผมพบว่ารากมังคุดแทงขึ้นมาที่หน้าดินเต็มไปหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยคอกเมื่อต้นฤดูฝนและการปล่อยให้ใบไม้คลุมหน้าดิน กระบวนการนี้ทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้นและมั่นใจว่าการห่มดินเป็นแนวทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับธรรมชาติ


หญ้าในสวนโตเร็วมากเพราะที่นั่นฝนตกชุกปีละ ๘ เดือน และการที่ผมไม่ฉีดยาก็ทำให้หญ้าโตเร็วได้อี๊ก ช่วงฤดูฝนหญ้าขจรจบ หรือ หญ้าคอมมิวนิสต์ จะสูงถึงสามเมตร หลายคนเห็นว่านี่คือปัญหาแต่ผมกลับเห็นว่านี่คือสมบัติที่ธรรมชาติมอบให้ ผมปล่อยให้หญ้านอกแปลงมังคุดโตเต็มที่และตัดมาทำปุ๋ยพืชสด หญ้าเยอะมากจนผมต้องเอากระบะไปขนมาหลายเที่ยว ผมเอาหญ้ามากองรวมกันแล้วรดด้วยน้ำหมักโดยที่ใส่มูลสัตว์ผสมลงไปเพียงเล็กน้อยเพราะไม่มีเงิน ใจหนึ่งก็กลัวว่าพืชจะขาดแร่ธาตุ เลยปลอบใจตัวเองว่า “วัวแม่งก็กินแต่หญ้าละน่า เอาหญ้าสดมาหมักพืชก็จะได้เต็ม ๆ เลย ไม่ต้องเสียแร่ธาตุไปให้วัว...ผลตรวจดินก็บอกว่าแร่ธาตุตกค้างเยอะอยู่แล้ว”


**********************************************
กล้า ๆ กลัว ๆ และกำลังใจ
ฤดูฝนหมดไปพร้อมกับเงินเก็บของผม แม้จะมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก แต่พอไม่มีเงินจริง ๆ ใจมันก็หวิว ๆ อยู่เหมือนกัน

ด้วยความที่เป็นไม้ผล ผมไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าผลผลิตจะออกเมื่อไร มากน้อยเพียงไร จะว่าไปมันก็เหมือนกับอุโมงที่มองไม่เห็นปลายทาง...

ผมได้คุยกับพี่คนหนึ่งที่ผมรู้จักสมัยทำงานที่เกาะ แกอิ่มตัวจากการทำงานเลยไปเป็นอาสาสมัครอยู่กับพี่โจน จันได ที่พันพรรณ แกบอกว่าดีมากจึงแนะนำให้ผมไปที่นั่นเพราะน่าจะเป็นแนวทางให้กับผมได้ แกบอกให้ผมลองสมัครเป็นอาสาในคอร์สบ้านดินดู ผมสนใจมาก แต่ด้วยความที่เป็นคอร์สยาวและช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมจะต้องควบคุมการให้น้ำอย่างใกล้ชิด ผมจึงขอสมัครเป็นอาสาประมาณ ๑๐ วัน

หลังจากนั้นไม่นานทางศูนย์แจ้งว่าอยากได้อาสาที่อยู่ได้เต็มกระบวนการมากกว่า การเดินทางของผมจึงยังไม่ถึงพันพรรณ

ผ่านไปซักพักทางพันพรรณส่งข้อความมาให้ผมว่าตอนนี้ทางพันพรรณจะมาจัดอบรมร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ในหลักสูตร “กินกะยักษ์พักกะโจน” และแนะนำให้ผมลองสมัครดู ผมสมัครทันทีโดยไม่ต้องคิด ซึ่งใครจะรู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะทำให้ผมมองเห็นแสงปลายอุโมงของการเดินทางบนถนนสู่ความพอเพียง

โปรดติดตามตอนต่อไป

Friday, November 30, 2018

(Mobile version) เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2 บนเส้นทางที่ เลือกเอง - ตอนที่ 1 - จะหยุดหรือจะไปต่อ


ความเดิมจาก EP ที่แล้ว
 
ผมเกษียณตัวเองออกมาทำสวนเพื่อใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง ในวันที่อายุยังไม่ถึง 30 โชคดีที่ครอบครัวมีที่ดินพร้อมสวนมังคุดอยู่แล้วผมจึงมารับช่วงต่อโดยมีญาติเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นหุ้นส่วนในปีแรก ไม่นานนักผมก็พบว่าตัวเองติดอยู่ในกับดักของการทำเกษตรเชิงเคมีเชิงพาณิชย์ และกำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวเงินเก็บของผมแทบจะไม่เหลือ และกำลังตัดสินใจว่าจะเลิกทำสวน หรือจะทำสวนต่อตามแนวทางที่ผมเลือกเอง
**********************************
เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2  บนเส้นทางที่ เลือกเอง - ตอนที่ 1 - จะหยุดหรือจะไปต่อ
การเก็บมังคุดสิ้นสุดลงกลางฤดูฝนปี ๒๕๕๕ ผมเริ่มงานต่อไปทันทีซึ่งก็คือการปลูกป่า (ไม้เนื้อแข็ง กฤษณา และยางพารา) ในพื้นที่อีกประมาณ 20 ไร่ในสวน จะว่าไปตอนนั้นผมก็ยังไม่ในแน่ใจในอนาคตของผมที่นี่  ผมเองก็ยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะจัดการสวนอย่างไรในปีหน้า ในวันที่จะต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองเพียงลำพัง ในเวลานั้นคิดเพียงอย่างเดียวคือจะปลูกป่า ผมอยากปลูกไม้เนื้อแข็ง เช่น พะยูง แดง มะค่า ฯลฯ ในขณะที่พ่ออยากให้ผมให้ปลูกยางพารา ส่วนญาติก็แนะนำให้ปลูกไม้ที่สามารถตัดได้โดยไม่ต้องรอเป็นสิบ ๆ ปี แซมลงไปด้วย ซึ่งก็คือกฤษณา ญาติที่เป็นนักวิชาการจึงแนะนำให้ทำเป็นแปลงสวนผสมที่นำไม้เนื้อแข็ง ยางพารา และกฤษณามา featuring กัน โดยมีวิธีการคือ แถวที่ ๑ ปลูกยางพาราอย่างเดียว เพื่อให้เวลากรีดไม่สับสนและไม่ต้องเดินไกล แถวที่ ๒ ปลูกไม้เนื้อแข็งสลับกับไม้กฤษณา โดยจะปลูกไม้เนื้อแข็ง ๑ ต้น แล้วปลูกกฤษณา ๒ ต้น แล้วก็กลับมาปลูกไม้เนื้อแข็งอีกครั้ง พอแถวที่ ๓ ก็กลับมาเริ่มแถวยางแล้วก็ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แนวคิดของการปลูกแบบนี้ก็คือ จะใช้ประโยชน์จากไม้ที่โตเร็ว (ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน) ก่อน แล้วเก็บไม้เนื้อแข็งซึ่งโตช้ากว่าเอาไว้ใช้ท้ายสุด 
กฤษณาเป็นไม้ที่โตเร็วจะถูกตัดก่อน ตอนนั้นประเมินว่าภายในปีที่ ๕ เราน่าจะสามารถนำกฤษณามาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ผมจะมีรายได้ก้อนแรก เมื่อกฤษณาถูกตัด ต้นยางและไม้เนื้อแข็งก็จะได้รับแสงมากขึ้นทำให้เติบโตได้ดีขึ้น พอถึงปีที่ ๗ ก็จะเริ่มกรีดยางได้ ผมจะมีรายได้เรื่อย ๆ  ไม่ต้องกังวลว่าไม้เนื้อแข็งจะบังแสงที่สะส่องถึงต้นยางเพราะต้นยางโตเร็วกว่า และภายในปีที่ ๓๐ ต้นยางจะหมดอายุกรีด ผมก็จะโค่นต้นยางออกทั้งหมด แล้วจะได้เงินก้อนจากการขายไม้ ส่วนไม้เนื้อแข็งก็จะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เพราะปลูกอยู่คนละแถว และสวนก็จะไม้ร้อนแล้งเพราะป่านนั้นไม่ป่าก็จะต้นใหญ่มากและเมื่อไม่มีต้นยาง มันก็จะสามารถแผ่กิ่งก้านออกไปได้อีก ผมเห็นด้วยตามนั้นและเตรียมปักหลักเพื่อกำหนดตำแหน่งการปลูกทันที 
 
 
(ด้วยความเป็น Perfectionism ตัวพ่อ หลักไม้ของผมตรงมากถึงมากที่สุด ผมพอใจมากจนต้องไปเอากล้องมาถ่ายรูปเก็บไว้)

แต่ผมต้องทำสิ่งหนึ่งที่ขัดกับความรู้สึกของผมมากที่สุดซึ่งก็คือการฉีดยาฆ่าหญ้า ญาติแนะนำวิธีการกำจัดวัชพืชที่ถือว่ามีความซับซ้อนอยู่พอตัว ก่อนอื่นแกบอกให้ผมเอารถแทรกเตอร์ตัดหญ้าทั้งแปลงเพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวกและทำให้วัชพืชอ่อนแอลง หลังจากนั้นแกก็จะให้คนมาพ่นยาฆ่าหญ้า ตามสมมุติฐานที่ว่าการพ่นยาตอนที่หญ้าแทงยอดขึ้นมาเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปจะทำให้มันตายง่ายที่สุดเพราะเหลือพลังงานสะสมอยู่น้อย (แต่หลังจากนั้นไม่นานนักหญ้าแม่งก็ขึ้นท่วมแปลงอยู่ดี)

ระหว่างรอให้หญ้าแทงยอดใหม่ ผมเริ่มลงมือปักหลักไม้ไผ้ที่เคยเหลาไว้หลายเดือนก่อน โดยในวันเสาร์อาทิตย์แฟนผมก็จะมาช่วยซึ่งทำให้งานของผมเสร็จเร็วกว่าการทำคนเดียวมาก
เมื่อถึงกำหนดฉีดยาฆ่าหญ้าคนงานก็เบี้ยว (อีกแล้ว) ซึ่งนั่นหมายความว่าผมจะต้องทำงานที่เกลียดที่สุดด้วยมือตัวเอง…

สารเคมีสีเขียวถูกเทลงถ้วยตวงก่อนถูกเทลงถัง ผมกรอกน้ำจนเต็มแล้วเดินพ่นไปตามแถวที่จะปลูกต้นไม้ ผมรู้สึกอึดอัดกับงานนี้มากโดยเฉพาะเวลาที่ต้องพ่นยาลงไปทำลายพืชพรรณที่อยู่บนแผ่นดินของเราด้วย บนผืนดินไม่ได้มีเพียงหญ้าที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แต่มันยังมีสมุนไพร ดอกไม้ พืชตระกูลถั่ว และอย่างอื่นอีกมากมายที่ให้ประโยชน์ต่อ คน พืช และสัตว์ ทำไมเราต้องเบียดเบียนระบบนิเวศเพียงเพื่อปลูกพืชไม่กี่ชนิดที่เราต้องการ ในวันนั้นผมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการอธิษฐานว่านี่จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ผมจะยอมให้มีการใช้สารพิษบนที่ดินผืนนี้

 
[สามปีหลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าไกลโพเซต เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์]
****************************************************************************
แนวทางการเตรียมกล้าไม้
- ง่ายสุดคือไปซื้อกล้าไม้ความสูงประมาณเอวตามร้าน ตัวเลือกจะมีมากแต่ราคาจะสูงกว่าเพื่อน
- ถ้าจะให้ถูกกว่านั้นก็ไปซื้อกล้าขนาดเล็ก แล้วมาใส่ถุงเพาะชำใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ผสมดินให้ดี ดูแลซัก 2 - 3 เดือนต้นกล้าก็จะพร้อมปลูก งานนี้ควรทำตอนต้นปีเพื่อให้ต้นกล้าโตพร้อมปลูกทันหน้าฝน

 
(ต้นมะฮอกกานีที่ถูกย้ายลงถุงชำขนาดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำไปปลูก)
 
(ต้นกล้าจะเคียนขนาดเล็กที่ถูกย้ายลงถุงเพาะชำใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนำไปปลูก)  
- เพาะเมล็ด!!! บางทีก็มีแจกกันฟรีในกลุ่ม หรือ ถ้าโชคดีก็เก็บจากต้นมาเพาะได้เลย ไม่ได้พูดเล่น ๆ กล้าจำนวนไม่น้อยของผมมาจากวิธีนี้
 
(ต้นกฤษณาที่เพิ่งงอกออกจากเมล็ด)
 
(เมล็ดพะยูงกำลังถูกคัดก่อนนำมาแช่น้ำ)
 
(กล้าพะยูงในเรือนกระจกที่ทำแบบง่าย ๆ)
 
(รากปมของกล้าพะยูงพี่นำออกจากถุงชำ)

- ขุดเอา! อยากได้กล้าอะไรก็เดินไปหาแล้วขุดเอาที่รอบโคนต้นนั้น เมื่อขุดมาแล้วไม่ควรนำไปปลูกทันทีควรนำเพาะไว้ในถุงเพื่อให้รากฟื้นตัวก่อน

 
(ต้นกล้ามะค่าแต้ที่ขุดมาจากป่าปลูกในสวน)
 
(ต้นกล้ากฤษณาที่มีอยู่อย่างมากมายบริเวณโคนต้น แต่ถ้ามีการฉีดยาฆ่าหญ้าเราก็จะสูญเสียทรัพยากรนี้ไป)

เพราะเหตุใดเมล็ดพืชบางชนิดแช่น้ำแล้วก็ยังไม่งอก
พืชบางชนิดต้องอาศัยสัตว์ในการขยายพันธุ์ หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสัตว์ เช่น แมลงมีความจำเป็นในการผสมเกสร แต่ประโยชน์ของสัตว์ในการขยายพันธุ์ของพืชไม่ได้มีเพียงแต่นั้น พืชบางชนิดจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการย่อยของสัตว์ในการกระตุ้นการงอกของเมล็ดด้วย เพื่อให้สามารถกระจายสายพันธุ์ออกไปได้ไกลขึ้น พืชจึงพัฒนาการให้ผลของมันมีรสชาติที่สามารถดึงดูดสัตว์ให้มากิน เมื่อสัตว์กินแล้วก็จะไปขับถ่ายที่อื่นเพราะกระบวนการย่อยใช่เวลา กระบวนการนี้้เองที่เป็นตัวกระตุ้นการงอกให้กับเมล็ด นอกนั้นยังให้แถมขี้มาให้ด้วย
คนจึงจำลองกระบวนการนี้ขึ้นมาด้วยการนำเมล็ดพืชมาแช่ในน้ำอุ่นเพื่อกระตุ้นการงอกก่อนนำไปปลูก
****************************************************************************
เนื่องจากกล้าไม้มีจำนวนเยอะมาก และผมต้องรีบปลูกให้เสร็จภายในกลางฤดูฝน ผมจึงจ้างคนมาช่วยปลูกต้นยาง ส่วนผมจะปลูกต้นกฤษณาและไม่เนื้อแข็ง ผมรู้สึกมีความสุขมากเมื่อได้จับจอบขุดดิน  การปลูกต้นไม้ได้ช่วยเตือนสติว่าผมมาที่นี่เพื่ออะไร และช่วยให้ผมรู้สึกว่าเรากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้แม้จะรู้ดีว่าผมอาจไม่มีชีวิตอยู่จนถึงวันที่จะได้ใช้ไม้ที่ตัวเองปลูก สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นระหว่างการขุดดินก็คือไส้เดือนในเกือบจะทุกหลุมที่ผมขุดลงไป ข่าวร้ายคือไส้เดือนที่เจอส่วนมากจะอยู่สภาพตัวขาดเพราะถูกจอบสับ ผมรู้สึกสะเทือนใจอยู่บ้างเพราะแม้แต่การทำสิ่งที่คิดว่าดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่สุดก็ยังส่งผลกระทบกับเพื่อนร่วมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนอกจากจะตั้งจิตบอกแม่ธรณีว่าก่อนเริ่มทำงานว่าขอให้การปลูกป่าในครั้งนี้เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด
หากมองในแง่ดีบางทีไส้เดือนพวกนี้อาจกำลังสื่อสารให้ผมเห็นกระบวนการในดิน เราไม่จะเป็นจะต้องเลี้ยงไส้เดือนหรือหาปุ๋ยอะไรมาใส่ให้ยุ่งยากเลย เพียงแค่เราไม่ไปรบกวนกระบวนการทางธรรมชาติจนเกินไปนักสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็พร้อมจะทำหน้าที่ดูแลผืนดินอยู่แล้ว พวกเราใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ก็ปลูกต้นไม้เสร็จทั้งหมด มหกรรมการขุดดินอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพดินติดตาผมแม้ยามนอนหลับ แฟนผมที่มาช่วยก็เป็นเช่นกัน
*******************************************
เมื่อปลูกป่าเสร็จผมพอจะมีเวลามาทบทวนบทเรียนรอบปีที่ผ่านมา ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า ผมได้กำไรจากการทำสวนมังคุดประมาณสามหมื่นเศษ ๆ แล้วตอนนี้ผมได้ใช้เงินทั้งหมดนั้นไปกับการ ปลูกป่า!!! เงินเก็บของผมในตอนนี้มีน้อยกว่าตอนที่ผมเริ่มทำสวนใหม่ ๆ ซึ่งมันก็น้อยจะตายห่าอยู่แล้ว

บัชีรายจ่าย
ฤดูกาล
2555 - 2556
วันที่
รายการ
หมวด
จำนวน
ราคาต่อหน่วย
จำนวนเงิน
1 พ.ค. 55
กล้ากฤษณา
ไม้ป่า
2
15
30
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 251
ไม้ป่า
235
30
7,050
1 พ.ค. 55
กล้ากฤษณา
ไม้ป่า
450
6
2,700
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 235
ไม้ป่า
400
30
12,000
1 พ.ค. 55
กล้ายาง 251
ไม้ป่า
100
25
2,500
1 มิ.ย. 55
ค่าจ้างปลูกยาง
ไม้ป่า
720
5
3,600
1 มิ.ย. 55
น้ำมันดีเซล
ไม้ป่า
1
500
500
1 มิ.ย. 55
ดินฟอสเฟต 0-3-0
ไม้ป่า
2
150
300
1 มิ.ย. 55
ค่าจ้างปลูกกฤษณา (2 คน 2 วัน)
ไม้ป่า
4
200
800
1 มิ.ย. 55
กล้าไม้ป่า
ไม้ป่า
1
800
800
1 มิ.ย. 55
เชือกฟาง
ไม้ป่า
1
40
40
9 พ.ย. 55
น้ำมันเบนซิน
ไม้ป่า
1
300
300
9 พ.ย. 55
น้ำมันดีเซล
ไม้ป่า
1
500
500
18 พ.ย. 55
ค่าแรงทำโคนไม่ป่า (2 คน 2 วัน)
ไม้ป่า
2
800
1,600
15 ก.พ. 56
ไผ่ยักษ์
ไม้ป่า
1
500
500
15 ก.พ. 56
กันเกรา
ไม้ป่า
5
20
100
15 ก.พ. 56
พญาไม้
ไม้ป่า
5
20
100
8 ก.ค. 56
กล้ายาง ฉะเชิงเทรา 50
ไม้ป่า
90
25
2,250
 รายจ่ายในการปลูกป่า

ค่าใช้จ่ายหลักมีอยู่สามอย่างคือ ค่าปุ๋ย-ยา ค่าแรงคนงาน และค่าน้ำมัน สิ่งที่น่าตกใจก็ คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเกษตรนั้นมันมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๕๖ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นเงิน ๔๗,๒๑๑ บาท ค่าใช้จ่ายรองลงมาคือค่าแรงคนเก็บมังคุดซึ่งมากถึง ๒๔,๙๔๔ บาท คิดเป็นร้อยละ ๒๙ ของค่าใช้จ่าย ตัวเลขนี้ก็น่าสนใจเช่นกันเพราะในฤดูการนี้เจ้าของสวน (ผม + ญาติ ที่ร่วมลงทุนในปีแรก) ได้กำไรประมาณ ๖๕,๐๐๐ บาท จากการทำงาน ๑ ปี + ๗ ปีแรกที่ยังไม่มีผลผลิต ในขณะที่ครอบครัวคนเก็บมังคุดได้ ๒๔,๖๔๔ บาท จากการทำงานประมาณสองเดือนเศษ ค่าใช้จ่ายอันดับสามคือค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสูบน้ำ (น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง สายพาน) ปีนี้นับว่าผมโชคดีที่มีฝนตกในหน้าแล้งมากผิดปรกติทำให้ค่าใช้จ่ายในปีนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นในฤดูการถัดไปค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เพราะไฟฟ้าที่เข้ามาที่สวนเป็นแค่ไฟเฟสเดียวผมจึงไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ 


 
ในขณะที่รายรับนั้นก็เป็นอีกปัญหาสำคัญเช่นกัน เพราะในการขายผลผลิตการเกษตรผู้ซื้อคือผู้กำหนดราคา และราคารับซื้อก็จะเปลี่ยนแปลงทุกวันไปตามปริมาณผลผลิต พอถึงช่วงที่เก็บเกี่ยวได้มากราคาก็จะถูกกระทืบลงทันที (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ EP1 - การซื้อเหมา การคัด และการผูกขาดทางการค้า – กลไกอุบาทว์ที่ผู้บริโภคไม่เคยรับรู้)
การวิเคราะบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในระบบอาหารนั้นมาจากการทำเกษตรเชิงเคมีเชิงพาณิชย์ และกลไกการตลาดอันบิดเบี้ยวที่ผู้รับซื้อมีอำนาจในการกำหนดราคาตามอำเภอใจ หากมองไปถึงสาเหตุที่ลึกกว่านั้น สาเหตุหลักของความล้มเหลวนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อนไปกว่าความโลภ ความมักง่าย และความเห็นแก่ตัวที่มาจากทั้งฝั่งเกษตรกรและผู้ประกอบการ

แม้ว่าเงินทุนของผมในตอนนั้นจะเหลือน้อยเต็มที แต่ตอนนี้ผมพอจะรู้แล้วว่าปัญหาของผมคืออะไร ถ้าผมทำเกษตรอินทรีย์ ต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา โง่ ๆ นั่นอันเป็นค่าใช้จ่ายหลักก็จะหายไปทันที แต่ปัญหาคือหากผลผลิตของผมไม่สวยตรงตามความต้องการของผู้รับซื้อ แล้วผมจะได้ขายได้ราคาเท่าไร ผมจะเอาผลผลิตอินทรีย์ของผมไปขายที่ไหนได้ และใครจะกินมังคุดหน้าตาขี้เหร่ ๆ ….
.
.
.
ผมไม่ทราบคำตอบนั้น และผมก็คิดว่าเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็ไม่ทราบคำตอบนั้นเช่นกัน
.
.
.
แต่ถ้าผมมัวแต่คิดโดยไม่ลงมือทำ ชาติหน้าผมก็คงยังจะไม่ได้คำตอบ ผมเลือกที่จะสู้ต่อแม้ว่าฤดูการที่แล้วผมล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่มันคือความล้มเหลวบนหนทางที่ผมไม่ได้เลือก แล้วผมก็เชื่อว่ามันไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว นี่คือทางตันที่คนส่วนมากหลงเดินตามกันมาเพราะคิดว่าจะทำให้รวย แต่พอไม่เป็นเช่นนั้นก็เลือกที่จะทำผิดซ้ำๆ ซาก ๆ โดยไม่คิดจะเงยหน้าขึ้นมาพิจารณาปัญหาอย่างลึกซึ้งและทดลองแนวทางอื่นบ้าง ปีนี้ผมจะต่อสู้ตามแนวทางที่ผมเชื่อ ตามแนวทางของในหลวง ตามแนวทางการเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าผมจะมีเงินทุนเหลืออยู่น้อยเต็มที แต่ผมจะสู้ตามกำลังทรัพย์และกำลังกายที่ผมมี ผมได้ยินมามากว่าเกษตรพอเพียงทำไม่ได้จริง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นเช่นไรจนกว่าจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

"มันไม่มีทางที่จะเชี่ยไปกว่านี้ได้หรอน่า" ผมให้กำลังใจตัวเอง ถ้าปีนี้ไม่รอดก็กลับบ้านก็แค่นั้น แต่หากผมผ่านปีนี้ไปได้ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งที่ในหลวงสอนนั้นทำได้จริง และใคร ๆ ก็ทำได้แม้ว่าจะมีหรือไม่มีเงินมากมายก็ตาม
**************************************
โปรดติดตามต่อตอนที่ 2