Popular Posts

Friday, March 03, 2006

ความทรงจำในโลกใต้น้ำ ภาค ๒ - ความสุขในการดำน้ำ

สมัยที่ผมดำน้ำใหม่ๆ นั้น ก็คงจะเหมือนนักดำน้ำหลายๆ คนที่
อยากเห็นฝูงปลา ปลาใหญ่ๆ สัตว์หน้าตาแปลกๆ ปะการังสวยๆ น้ำใสๆ ฯลฯ
จนเมื่อห้าปีที่แล้ว
ผมพบว่าเราแม้ว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านั้น
เรายังสามารถมีความสุขกับการดำน้ำได้


เพียงแค่เราได้ลงไปลอยอยู่กลางน้ำ
มองดูฟองอากาศที่ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ
ฟองอากาศเล็กๆ ที่เราหายใจออกมา
ค่อยๆ ลอยขึ้น และโตขึ้นทีละนิดๆ
จนแตกออกมาเป็นหลายๆ อัน
แล้วก็ค่อยๆ ลอยขึ้น และโตขึ้นอีก
แล้วก็แตกออกมาอีกเป็นกลุ่มฟอง
มันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงผิวน้ำ

หลายคนอาจเคยเห็นสิงห์อมควัน
พ่นก๊าซสีเทาออกมาเป็นรูปวงแหวน
หรือ ที่เรียกกันจนติดปากว่าทำโดนัท
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า
เราสามารถทำโดนัทเมื่ออยู่ใต้น้ำได้เช่นกัน
และฟองอากาศรูปวงแหวนนี้
จะค่อยๆ โตขึ้นๆ เช่นเดียวกับฟองอากาศ
ที่เราหายใจออกมา
แล้วก็แตกออกเป็นกลุ่มฟองในที่สุด

ที่สภาวะเสมือนไร้แรงโน้มถ่วง
จะตีลังกากลับหัวกลับหางอย่างไรย่อมทำได้
หลายสิ่งที่ทำไม่ได้บนบก เป็นไปได้ที่นี่
เราสามารถลอยหรือจมได้ดังใจ
เมื่อเราหายใจเข้าปริมาตรปอดจะเพิ่มมากขึ้นเราก็จะลอย
และเมื่อเราหายใจออกปริมาตรปอดจะลดลงเราก็จะจม
มันเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่มีความคุ้นเคยกับมัน

ณ เวลานั้นผมเรียกสิ่งนี้ว่า “ความสนุกกับสภาวะใต้น้ำ”
.
.
.
มีความคิดและความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นเมื่ออยู่ใต้น้ำ
แต่ที่น่าเสียดายคือมันนึกออกเฉพาะตอนที่อยู่ใต้เท่านั้น
ผมดำน้ำมานานพอสมควร แต่แทบจะไม่เคยบันทึกเรื่องนี้เอาไว้
แล้วก็ไม่ค่อยคุยกับใครเรื่องนี้ด้วย
เหตุผลง่ายๆ คือ...พอขึ้นมาแล้วมันก็ลืม

จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วขณะที่ผมกำลังดำน้ำอยู่ที่กองชุมพร
ปลาขนาดใหญ่มากตัวหนึ่งได้ว่ายเข้ามาอย่าช้าๆ
ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ ที่เราเรียกว่า ฉลามวาฬ
ได้ปรากฏให้พวกเราได้เห็นในระยะใกล้ๆ
แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้สัมผัสกับมัน
แต่มันก็กว่าสี่ปีแล้วที่ผมไม่เคยได้เห็นอีกเลย
ความประทับใจในอดีตวาบขึ้นมา

มันชัดเจน และรุนแรง จนมิอาจจะเชื่อว่า
ราวกับว่ามันเพิ่งจะเกิดขึ้น

ความรู้สึกในวันนั้นมีพลังมากพอจนยากจะลืม แม้ขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว
และยังเตือนให้เราไม่ลืมว่า มีความรู้สึกบางอย่างที่เราสัมผัสได้ยามที่เราอยู่ใต้น้ำเท่านั้น
ซึ่งในยามปรกติเราไม่อาจสัมผัสได้
รู้เพียงแต่ว่ามีความรู้สึก แต่ไม่สามารถสัมผัสได้ว่าความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร
นอกเสียจากว่าเราสามารถถ่ายทอดออกมาได้ในวินาทีนั้น
.
.
.
ผมจึงเรียกมันว่า “ความทรงจำในโลกใต้น้ำ”

ความทรงจำในโลกใต้น้ำ ภาค ๑ - หน้าที่ดูแล


เรื่องง่ายๆ บางเรื่อง อาจกลายเป็นเรื่องยากหากจะต้องนำมาถ่ายทอด
หากไปถามช่างสีว่าจะต้องผสมอะไรบ้างจึงจะได้สีออกมาตามที่ต้องการ
ช่างอาจให้คำตอบที่เราต้องการไม่ได้
นอกเสียจากว่าเขาจะทำให้ดู

แน่นอนว่าช่างไม่ได้โง่
และช่างก็ไม่ได้เป็นใบ้
แต่เรื่องบางเรื่องนั้นหาใช่อธิบายได้ง่าย
นอกเสียจากว่าจะต้องลงมือทำแล้วจะนึกออกเองว่าจะต่อทำอะไรบ้าง

...................................................................


ในวินาที่ขอบหน้ากากพ้นผิวน้ำ
หลายสิ่งหลายอย่าง โฟ่เข้ามาในจิดใต้สำนึกของผม
การแสดงออกของผมเปลี่ยนไป นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่สามารถ
พูดคุยได้อย่างปรกติอีกแล้ว
แววตา และท่าทาง เท่านั้นคือสิ่งที่เราใช้สื่อสารในวินาทีนี้
และนั่นทำให้ผมต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก
เพื่อจะได้ทราบความรู้สึกของคนที่ดำน้ำด้วยกัน

บางทีอาจเป็นเพราะ
เราไม่อาจให้อภัยตัวเองได้เลยหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ไม่ถึงกับต้องมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น
เพียงแค่มีปัญหาเกิดขึ้น และนักเรียนรู้สึกว่าการดำน้ำเป็นเรื่องที่ไม่สนุก
และเลิกเรียนดำน้ำเสียกลางคัน
ก็จะเกิดเป็นหลุมดำในจิตใจของคนที่เป็นครูไปอีกนาน


ดำน้ำก็เหมือนกับกิจกรรมทั่วๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้
อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
แต่หากเราปล่อยให้ปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันได้
นั่นก็คือความบกพร่องที่ไม่น่าให้อภัย

นี่เองอาจจะเป็นสาเหตุให้ผมกลายเป็นคนละคนทันทีขอบหน้ากากพ้นน้ำลงไป
เรามีหน้าที่ให้ความดูแลให้คนที่มากับเรา
ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่าจะต้องทำอะไรในเวลาไหน
และทำอย่างไร จึงจะเข้าใจคนอื่นและทำให้พวกเราเข้าใจเรา
มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ หรือที่เราเรียกมันว่า “จิตใต้สำนึก”
มันเป็นอารมณ์ของคนทำงานที่ดีทีเดียว
มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ง่ายนัก
เหมือนกับไปถามช่างสีว่าจะต้องผสมอะไรบ้างจึงจะได้สีออกมาตามที่ต้องการ
ช่างอาจให้คำตอบที่เราต้องการไม่ได้
นอกเสียจากว่าเขาจะทำให้ดู

แน่นอนว่าช่างไม่ได้โง่
และช่างก็ไม่ได้เป็นใบ้
แต่เรื่องบางเรื่องนั้นหาใช่อธิบายได้ง่าย
นอกเสียจากว่าจะต้องลงมือทำแล้วจะนึกออกเองว่าจะต่อทำอะไรบ้าง
.
.
.
ช่างอาจดูเป็นคนที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรสำคัญ
แต่หากในเรื่องงานที่เขาถนัดแล้ว
เขาคือคนสำคัญ
เพราะคนเราก็ไม่ได้เก่งไปหมดเสียทุกเรื่อง
แต่ก็ขอให้มีสักเรื่องที่เราทำได้ดี
เพื่อเป็นคุณค่าในของชีวิตเรา
.
.
.