Popular Posts

Saturday, January 21, 2006

Nitrox คืออะไร?

โดยทั่วไปคนมักคิดว่าก๊าซที่นักดำน้ำใช้หายใจคือ ออกซิเจน ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ถูกบางส่วน เพราะแท้จริงแล้วก๊าซที่นักดำน้ำแบบสันทนาการใช้ก็คือ อากาศปรกติที่เราใช้หายใจนั่นเอง

อากาศนั้นหากดูอย่างคร่าวๆ คือส่วนผสมระหว่าง ก๊าซออกซิเจน กับไนโตรเจน ในอัตราส่วน 21: 79 % ดังนั้นความคิดที่ว่านักดำน้ำหายใจออกซิเจน ก็ไม่จัดว่าไม่ผิดเสียทีเดียว

คนที่มีความรู้ดำน้ำขั้นพื้นฐานอาจจะจำได้ว่า อากาศที่นักดำน้ำใช้หายใจได้สร้างข้อจำกัดในการดำน้ำอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก คือ ความลึก – ที่ระดับน้ำทะเล ออกซิเจนมีความดัน (Partial Pressure of Oxygen – PPO2) เท่ากับ 0.21 ATA* เมื่อลงสู่ความลึก ค่าความดันนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น และก๊าซออกซิเจนจะมีโอกาสเป็นพิษหากว่าค่านี้อยู่ในระดับตั้งแต่ 1.4 ATA ขึ้นไป

*ATA = Atmosphere Absolute

ประการที่สอง คือ เวลาใต้น้ำ – อันนี้ไม่ได้หมายความว่าอากาศจะมีไม่เพียงพอหากต้องการอยู่ใต้น้ำนานๆ แต่หมายถึงปัญหาที่เกิดจากการหายใจเอาไนโตรเจนเข้าไปเป็นเวลานาน เมื่ออยู่ใต้น้ำ
นักดำน้ำหายใจเอาก๊าซทั้งสองอย่างเข้าไปในร่างกาย และเนื่องจากไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย จึงไม่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างพลังงาน (Metabolism) ไนโตรเจนบางส่วนถูกขับออกมาพร้อมกับการหายใจแต่ยังมีบางส่วนที่สะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งหากมีอยู่มากเกินไปก็จะเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนโลหิต

ให้มองแบบง่ายๆ ว่า ออกซิเจน มีบทบาทในการควบคุมความลึก ในขณะที่ ไนโตรเจน มีบทบาทในการควบคุมเวลา


การเอาชนะข้อจำกัดเกี่ยวกับความลึกนั้น เป็นเรื่องยุ่งยากและมีต้นทุนสูง ในขณะที่การเพิ่มเวลาใต้น้ำสามารถทำได้ไม่ยากด้วยการปรับส่วนผสมของก๊าซในถัง
.
.
.
ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ หากเราหายใจด้วยอากาศปรกติภายใต้ความลึกเป็นเวลานาน ก๊าซไนโตรเจนจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ กระแสเลือด ผิวหนัง กระดูก ฯลฯ ซึ่งร่างกายสามารถรับได้จนถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่า Maximum – Value (M-Value)

หากระดับไนโตรเจนในร่างกายมีมากกว่า M-Value เมื่อนักดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำซึ่งมีความดันน้อยก๊าซที่ละลายอยู่ในร่างกาย ก็จะขยายตัวออกเป็นฟอง หากอยู่ในเส้นเลือดก็จะกีดขวางการเดินโลหิต ทำให้เกิดอาการชาโดยมากมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณข้อต่อ เช่น หัวไหล่ และข้อศอกเป็นต้น อาการนี้มีชื่อว่า “Decompression Sickness” หรือ มีนามกรเสี่ยวๆ เป็นภาษาไทยว่า “โรคน้ำหนีบ”
เมื่อทราบกันดีแล้วว่า ไนโตรเจน สร้างข้อจำกัดเรื่องเวลาให้กับนักดำน้ำ วิธีที่จะทำให้เราสามารถอยู่ในน้ำได้นานขึ้นก็คือ การลดสัดส่วนของไนโตรเจนลง หรือเพิ่มสัดส่วนของออกซิเจนขึ้น ซึ่งเราเรียกส่วนผสมนี้ว่า:

Nitrox หรือ Enriched Air Nitrox (EAN)

Nitrox คือ คำสมาสระหว่างคำว่า Nitrogen กับ Oxygen ซึ่งหมายความว่าส่วนผสมนั้นมี O2 และ N2 เป็นองค์ประกอบหลัก โดยไม่จำกัดว่าจะมีส่วนผสมอย่างไร คำว่า Nitrox เพียงอย่างเดียวไม่ได้ระบุถึงสัดส่วนของก๊าซทั้งสองอย่าง ดังนั้นจึงต้องมีการระบุส่วนผสมของก๊าซทั้งสองอย่างลงไปโดยการเขียนเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนต่อท้าย เช่น Nitrox 32 หรือ Nitrox 36 เป็นต้น

Enriched Air Nitrox (EAN) หมายถึงอากาศที่ถูกเติมออกซิเจนเข้าไป ดังนั้นส่วนผสมของ EAN จะต้องประกอบด้วยออกซิเจนมากกว่า 21% ในการดำน้ำเพื่อสันทนาการ EAN เป็นส่วนผสมที่มีออกซิเจนอยู่ระหว่าง 22 – 40% วิธีการบอกสัดส่วนก็ใช้วิธีการเขียนค่าออกซิเจนต่อท้ายเช่นเดียวกับ Nitrox เช่น EANx33, EANx40


ข้อจำกัดของ Nitrox
หลายท่านอาจจะพอจำได้ว่า Oxygen จะเป็นพิษที่ความลึก หรือ มี Partial Pressure ในระดับตั้งแต่ 1.4 ATA เป็นต้นไป ดังนั้นการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซชนิดนี้ก็จะทำให้ PPO2 มากขึ้นด้วย

หากนักดำน้ำใช้ EANx30 ค่า PPO2 ที่ระดับน้ำทะเลก็จะมีค่าเท่ากับ 0.30 ATA
และที่ความลึก 10 เมตร ค่า PPO2 ก็จะอยู่ที่ระดับ 0.60 ATA
และที่ความลึก 20 เมตร ค่า PPO2 ก็จะอยู่ที่ระดับ 0.90 ATA

*วิธีคิด
[(ความลึก/10) + 1] x PPO2 ที่ระดับน้ำทะเล

หากท่านไปคิดดูเล่นๆ ก็จะพบว่า การดำน้ำด้วย Nitrox แม้ว่าจะทำให้สามารถดำน้ำได้นานขึ้นแต่ก็ได้เพิ่มข้อจำกัดเรื่องความลึกให้มากขึ้นไปอีก

ไม่ไหวแล้วโว้ย แล้ววันหลังจะมาสอนวิธีการคำนวนต่อ

ขวัญผู้ยิ่งใหญ่อยากตอบแทนแฟนานุแฟนทุกท่านด้วยการมอบ CD แอนนา เอ้ย ภาพเจ๋งๆ ใต้น้ำให้กับผู้ร่วมสนุกที่ตอบคำถามได้คะเนนสูงสุด ขอเพีบงท่านตอบคำถามดังกล่าวแล้วเมลมาที่ bloodybrother@yahoo.com หมดเขตร่วมสนุกวันที่ 22 ม.ค. นี้

คำถาม.
1. เราสามารถเรียกอากาศธรรมดาว่า Nitrox หรือ EAN ได้หรือไม่ จงอธิบาย
2. เพราะเหตุใน Nitrogen จึงสะสมอยู่ในร่างกาย
3. ข้อได้เปรียบของการดำน้ำด้วย Nitrox/EAN คืออะไรเมื่อเทียบกับการดำน้ำด้วยอากาศปรกติ
4. ข้อด้อยของการดำน้ำด้วย Nitrox/EAN คืออะไร เมื่อเทียบกับการดำน้ำด้วยอากาศปรกติ
5. หากใช้อากาศปรกติ ก๊าซออกซิเจน อาจเป็นพิษที่ความลึกกี่เมตร (น้ำทะเล)