Popular Posts

Thursday, October 23, 2014

เส้นทางสู่ความพอเพียง ตติยบท – เวลาแห่งการรอคอย

ผมรู้สึกแปลก ๆ กับการทำสวน ช่วงนั้นงานในแปลงมังคุดอย่างเดียวที่ผมทำด้วยตัวเองคือการติดเครื่องจักรเพื่อรดน้ำและเดินตรวจการจ่ายน้ำของสปริงเกอร์ ส่วนงานที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ย การพ่นยาฆ่าแมลง การพ่นยาฆ่าหญ้าและคนพ่น ล้วนทำด้วยมือคนอื่น ผมรู้สึกว่ากำลังบริหารโรงงานอะไรสักอย่าง มันเป็นเวลาร่วมครึ่งปีแล้วที่ผมมาทำสวนที่นี่ทว่าผมยังไม่ได้แม้แต่จะปลูกพืชผักกินเองสักต้นเลย


(จบความจากตอนที่แล้ว)

*************************************
 

เส้นทางสู่ความพอเพียง ตติยบท – เวลาแห่งการรอคอย
วันหนึ่งญาติบอกว่าจะลองปลูกผักก็ได้ ระบบท่อน้ำเดิมที่ฝังไว้ใต้ดินยังใช้ได้อยู่ แค่เชื่อมท่อหลักเข้าด้วยกันระบบน้ำก็จะใช้ได้แล้ว บ่ายวันนั้นแกพาไปที่ร้านเครื่องมือเกษตร

"เอาอีโบสี่นิ้วตัวนึง" อาบอกกับคนขาย

"เชี่ยไรวะเนี่ย?" ผมสบถกับตัวเองเมื่อได้ยินชื่ออุปกรณ์ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในชีวิต
.
.
.
ทันทีที่กลับมาแกให้ผมขุดดินเพื่อหาท่อขนาดสี่นิ้วที่ฝังอยู่ เมื่อพบท่อแกให้ขุดลงไปอีกคืบหนึ่งเพื่อให้มีพื้นที่พอสำหรับการเลื่อยและเชื่อมท่อเข้าด้วยกันอีกครั้งโดยมี "อุปกรณ์เชี่ยอะไรนั่น หรือ อีโบ" เป็นพระเอกในงานนี้ เมื่อการเชื่อมระบบสำเร็จ หัวสปริงเกอร์ที่เคยใช้ในแปลงผลไม้ก็พร้อมจะทำหน้าที่อีกครั้ง ด้วยความที่ระบบท่อในสวนเชื่อมกันทั้งหมดเวลาที่ผมรดน้ำมังคุดผักก็จะพลอยได้น้ำไปด้วย สิ่งเดียวที่ผมต้องทำเพิ่มคือเดินมาเปิดประตูน้ำอีกตัวเท่านั้น



 

ยีโบล์ท หรือ จีโบล์ท (GIBAULT) ข้อต่อยีโบลท์ เป็นข้อต่อที่ใช้สำหรับต่อท่อน้ำประปา มีประโยชน์ใช้ซ่อมท่อประปาที่แตก ตัวยีโบล์ทประกอบด้วยแหวนตัวกลาง สำหรับสวมตรงรอยต่อของท่อ ๑ วง แหวนประกับแหวนตัวกลางทั้ง ๒ ข้าง จำนวน ๒ วง ซึ่งทำด้วยเหล็กหล่อ มีสกรูสำหรับยึดแหวนประกับ และมีแหวนยางกันน้ำรั่วซึม จำนวน ๒ วง แหวนยาง ต้องเป็นยางคุณภาพดี เนื้อแน่น เหนียว ยึดหยุ่นได้ดี ขนาดเป็นไปตามมาตรฐานชั้นคุณภาพของข้อต่อยีโบลท์ รูปหน้าตัดของเส้นวงแหวนยางเป็นรูปกลมผิวเรียบสม่ำเสมอ


ข้อมูลจาก: http://nccn-cnt.dld.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=383:2014-04-18-04-57-27&catid=66:km-&Itemid=55

 

เนื่องจากผลไม้ถูกปลูกเป็นแถวในระยะ 4 x 4 ผมจึงต้องปรับหลุมผักของผมให้สอดคล้องกับระบบน้ำเดิมด้วยการทำแปลงผักเป็นวงกลมรอบหัวสปริงเกอร์ การปลูกแบบนี้จะต่างจากแปลงผักทั่วไปที่เป็นแถวยาว ๆ ที่น่าจะคุ้นตาคนทั่วไปมากกว่า ผมขุดแปลงผักซัก 10 หลุมเห็นจะได้ ผมมีความสุขมากกับการขุดดินทำแปลงผัก นี่เป็นหนึ่งในวันที่ผมมีความสุขที่สุดเมื่อมาอยู่ที่นี่ และก็เป็นไม่กี่ครั้งที่ผมรู้สึกว่าเราสามารถสร้างความมั่งคั่ง สร้างอนาคต ได้ด้วยมือของเราเอง ผมนึกถึงตอนประถมที่ครูให้ปลูกผักบุ้งหลังโรงเรียนในวิชาเกษตร หลังจากที่หว่านเมล็ดได้ไม่กี่อาทิตย์เด็ก ๆ ก็มีผักบุ้งกลับบ้าน ผมไม่รู้เลยว่าในปัจจุบันยังมีวิชาแบบนี้อยู่หรือไม่ ผมอยากให้เด็ก ๆ ใช้เวลาอันมีค่าของเขาไปกับการปลูกพืชผักแทนที่จะไปหมกตัวอยู่ในโรงเรียนกวดวิชา หรือหน้าจอโทรศัพท์

 

ผมเริ่มการเพาะปลูกด้วยเมล็ดผักทั่วไปที่หาซื้อได้ตามตลาด ผมโรยลงไปโดยตรงโดยไม่ทำการอนุบาลในถาดเพาะยกเว้นต้นมะนาวที่ผมปลูกด้วยต้นกล้า ผมรู้สึกว่าแฟนจะดูตื่นเต้นกับงานนี้พอสมควรและให้ผมส่งรูปไปให้เธอดูบ่อย ๆ จากนั้นเธอก็ตอบกลับมาเป็นกลอนว่า

 
ผัก – อะไร ก็อร่อย ขวัญน้อยปลูก
โต – จนสุก ทั่วทุกแปลง แข่งกันเขียว
ยัง – มีฟัก ผักบุ้งจีน ในดินเดียว
คะ - น้าเขียว เปรี้ยวมะนาว สะเดาเดิม
เป็น – ใบหอม กะเพราะคละ โหระพา
กำลัง – ดี ผักชีจ๋า เอามาเสริม
ใจ – ยังรัก ถั่งฝักยาว เค้าคอนเฟิร์ม
ให้ – ได้เริ่ม ลงมือเอง ก็เจ๋งเลย ๚ะ๛

หลังจากนั้นไม่กี่วันพวกเราก็เริ่มเห็นยอดผักแทงขึ้นมา ในขณะที่ต้นมะนาวแทบจะไม่มีใบเหลือให้เห็นเนื่องจากหนอนผีเสื้อกินหมด ผมพยายามช่วยเท่าที่ทำได้ด้วยการจับหนอนออก แต่ทุกครั้งที่เดินกลับมาที่นี่ก็จะพบหนอนตัวใหม่เสมอ

 

ปลายเดือนมกราคมฝนตกแทบทุกวันทำให้ผมไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ ฝนทำให้มังคุดของผมดูสดชื่นมาก ดูแตกต่างจากช่วงอดน้ำอย่างสิ้นเชิง ฝนช่วยประหยัดค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำให้ผมได้มาก แต่ในขณะเดียวกันฝนก็ทำให้วัชพืชในแปลงผักเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุที่ไม่ต้องรดน้ำผมจึงไม่ได้เดินมาที่แปลงผักเลยในช่วงนี้และเมื่อผมกลับมาอีกครั้งวัชพืชก็เข้ามาปกครองพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เมื่อถอนหญ้าออกผมก็ยังคงมองไม่เห็นแม้แต่เงาของต้นกล้าที่ปลูกไว้ เห็นเพียงตั๊กแตนหน้าตากวนประสาทที่เหลียวมองผมอย่างเย้ยหยัน ผมพูดอะไรมาออกเมื่อเห็นสิ่งที่ผมตั้งใจทำที่สุดกลายเป็นสิ่งแรกที่ล้มเหลว ผมปลอบใจตัวเองว่า "อย่างน้อยที่สุดกูก็รู้แล้วว่าทำไมเกษตรกรถึงบ้าพ่นยากันจัง"

 

มีนาคม ๒๕๕๕
หลังจากการต่อสู้อันยาวนาน ในที่สุดผมก็ได้รับการยืนยันว่ารถกระบะที่ผมจองไปนั้นผลิตเสร็จแล้ว กว่าจะถึงวันนี้ก็ทุลักทุเลพอสมควร
อ่านเรื่องเต็มได้ที่
การมีรถเป็นของตัวเองทำให้ผมไม่ต้องรบกวนยืมรถญาติไปรับส่งแฟนที่นั่งรถตู้มาหาในช่วงวันหยุด และที่สำคัญที่สุดคือผมมีพาหนะที่จะนำผลผลิตออกไปขายเสียที อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการขายผลไม้ก็คือตะกร้าพลาสติก ญาติบอกให้เตรียมไว้เยอะ ๆ เพราะในช่วงที่ผลผลิตของทุกสวนอยู่ในจุดสูงสุดสหกรณ์ที่รับซื้อสินค้าจะไม่สามารถคัดแยกผลไม้ได้ในวันเดียวกันทำให้เกษตรกรต้องมารับเงินค่าผลผลิตและตะกร้าคืนในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงควรมีตะกร้าสำรองไว้เพื่อให้สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง

ผมสำรวจราคาตะกร้าจากร้านค้าหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก สุดท้ายผมก็ซื้อตะกร้ามา ๓๐ ใบ และเวลาสำคัญก็มาถึง ....... ผมจะต้องพิมพ์อักษรลงบนตะกร้า นึก ๆ ไปก็ขำเพราะตอนเด็ก ๆ เวลาเดินผ่านตลาดปากคลองผมเห็นตะกร้า เจ๊นู่น เจ๊นี่ เต็มไปหมด แต่ไม่เคยคิดสักนิดเลยว่าวันหนึ่งจะมีตะกร้าเป็นของตัวเอง ........ ในตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาชื่ออะไรดี เลยสั่งพิมพ์ไปอย่างซื่อ ๆ ว่า "ขวัญ + มังคุด"


"อ้าว แบบนี้ก็เอาลังไปใส่อย่างอื่น ไม่ได้นะสิ" ญาติผู้หญิงแซวเล่น ๆ แล้วกดดันให้ญาติอีกคนช่วยจัดพื้นที่ในห้องเก็บของเพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับของเล่นใหม่ของผม

 

งานประจำของผมยังคงเป็นการรดน้ำ แต่ด้วยความที่ปีนี้ฝนยังคงตกแม้ในหน้าแล้ง บางทีฝนก็ตกลงมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยขณะที่ผมกำลังรดน้ำทำให้งานรดน้ำเบากว่าที่ควรจะเป็น ญาติบอกว่าการที่ฝนตกสลับกับแดดออกแบบนี้จะทำให้ผลไม้โตและสุกเร็ว หากมีฝนหนักผมอาจสามารถหยุดการรดน้ำได้หลายวัน บางครั้งผมใช้โอกาสนี้กลับบ้านที่กรุงเทพฯ และบางครั้งญาติก็ไปทำธุระที่กรุงเทพฯ เช่นกัน การอยู่ในสวนเพียงลำพังไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตผมยากขึ้นก็คือผมจะต้องทำกับข้าวให้กับหมาบางแก้วทั้งฝูงของแก ส่วนหมาอื่นไม่ยากเท่าไร การให้อาหารของแกมีกรรมวิธีที่มากกว่าชาวบ้าน กล่าวคือแกจะซื้อซี่โครงไก่มาจำนวนหนึ่ง สับเป็นชิ้น ๆ นำไปต้มในหม้อใส่น้ำปลาและน้ำตาลจนได้กลิ่นที่พอใจ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปราดบนอาหารเม็ดอีกที ทั้งกระบวนการใช้เวลาพอสมควร ที่ยากที่สุดก็คือการเอาใส่จานไปเสิร์ฟให้หมา เพราะต่างฝ่ายก็ต่างระแวงกัน



ผมก็เป็นคนประเภทที่เวลาหมาวิ่งไล่ผมจะวิ่งสวนกลับ ผมจะไม่หงอเมื่อมันขู่ผมแต่จะตะโกนข่มให้มันรู้ว่า "มึงอย่ามากร่างกับกู" ดังนั้นมิตรภาพระหว่างหมาบางแก้วกับผมจึงไม่มีแม้แต่ในจินตนาการ ดังที่เคยกล่าวไว้พวกนี้มันมักจะไล่กวดผมเวลาที่ผมเดินเข้าหรือออกจากบ้าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนผมสังเกตพฤติกรรมการไล่กวดของพวกนี้ได้ว่าไม่ว่าพวกมันจะไล่กวดกระต่ายหรือไล่กวดผม อีเป็ปซี่ กับไอ้โค้ก จะพุ่งตรงมาก่อน ส่วนไอ้ชิซึ่งเจ้าเล่ห์กว่าจะพุ่งเข้ามาข้างหลังในขณะที่เหยื่อกำลังชุลมุนกับหมาสองตัวแรก เมื่อมองเกมส์ออกผมจึงจัดการไล่กวดไอ้ชิในจังหวะที่มันแยกตัวออกมา แล้วจึงมาไล่กวดไอ้หมาสองตัวด้านหน้า ผมว่ามันคงจะเกลียดผมพิลึกที่คนบางพลัดอย่างผมทำให้หมาบางแก้วเสียหมาได้ขนาดนี้ แต่ถ้าผมไม่สู้ผมก็คงจะมีหมาพวกนี้เป็นนายอยู่เรื่อยไป
.
.
.
เมื่อสถานการณ์พลิกผัน หมาพวกนี้จะอยู่นอกรัศมีบ้านในเวลาที่ผมอยู่คนเดียวราวกับว่ามีใครได้ขีดเส้นพรมแดนเอาไว้ มีเพียงฟ้าเท่านั้นที่จะทำให้พวกมันแหกกฎข้อนี้ ในเวลาฝนตกและฟ้าร้องดังหมาที่ดุร้ายจะกลายเป็นลูกแมวไปในทันที พวกหมาบางแก้วจะวิ่งเข้าบ้านมานอนขดอยู่กับสิ่งมีชีวิตจากบางพลัด ผมซึ่งนั่งกินข้าวอยู่ก็ทำอะไรไม่ถูกเมื่อถูกหมาพวกนี้ลืมความเกลียดชังเอาเสียเฉย ๆ พวกมันจะไม่ไปไหนทั้งสิ้นตราบใดที่ยังมีเสียงฟ้าร้อง ส่วนผมเองก็ขยับตัวไปไหนไม่ได้เหมือนกันเพราะกลัวขาจะขาด แต่ทันทีฝนหยุดพวกมันก็กลับมาเล่นละครบทเดิมอีกครั้ง.......

 

*************************************


 

เมษายน ๒๕๕๕
หลายสวนได้เริ่มเก็บมังคุดมาพักหนึ่งแล้ว ราคามังคุดเมื่อเดือนก่อนตกกิโลละร้อยกว่าบาท คนกลางรับซื้อโดยไม่มีการคัดเกรดตามน้ำหนักและลักษณะผิว วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ ผมขายมังคุดเป็นครั้งแรกได้เงิน ๓๑๗ บาทจากมังคุดไม่กี่กิโล ราคามังคุดในขณะนั้นอยู่ที่ ๗๐ – ๕๐ – ๒๗ บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปลักษณ์ภายนอก ผมจ่ายค่าแรงให้คนงาน ๒๐๐ บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำในชุมชน มังคุดในช่วงแรกยังน้อยอยู่ผมจึงทิ้งช่วงอีก ๔ วันก่อนทำการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป


 

เริ่มแรกญาติพาผมไปขายที่สหกรณ์ซึ่งอยู่บนถนนสุขุมวิทฝั่งขาออกจากตราดแต่เป็นฝั่งขาเข้าหากจะไปกรุงเทพ! ผมมีความรู้สึกที่เป็นบวกกับความเป็นสหกรณ์แต่ก็อดกังขาไม่ได้กับระบบการชั่งและการคัด เมื่อผมนำรถไปจอดคนงานจะนำตะกร้าผลผลิตหลังรถลงไปที่จุดคัด จากนั้นพวกคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านผู้เคยยิ่งใหญ่ก็จะเริ่มการคัดตามเกณฑ์ที่สหกรณ์เป็นคนกำหนดวันต่อวัน คนงานบางคนก็มาใหม่คัดไม่ค่อยถูกและต้องคอยหันไปถามเพื่อนร่วมงานอยู่บ่อย ๆ เมื่อการคัดสิ้นสุดคนงานก็จะยกขึ้นตาชั่งจากนั้นก็จะมีคนมาจดน้ำหนัก ผมว่ามันไม่ค่อยจะตรงไปตรงมาเสียเท่าไร ในการชั่งคนงานจะต้องหักน้ำหนักของตะกร้าออกก่อนจดบันทึก แน่นอนว่ามันย่อมจะต้องมีเศษแต่ผมไม่เคยเห็นเขาจดเป็น .๑, .๒ หรือ .๓ เลย มีแต่ .๕ กับ .๐ ซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้ พวกเขาแค่มองอย่างรวดเร็วก่อนหักน้ำหนักออกแล้วจดตัวเลขลงบนกระดาษ วันนี้ผมกำลังเอาผลผลิตที่ออกเพียงปีละครั้งและเป็นรายได้เพียงอย่างเดียวมาแขวนอยู่บนตาชั่งเอียง ๆ ที่นี่




ผมเริ่มมองหาล้งอื่นที่ดูน่าเชื่อถือมากกว่านี้ และวันหนึ่งระหว่างทางจากสหกรณ์กลับสวนผมก็ดุดตากับล้งเอกชนขนาดใหญ่บนถนนใกล้สวน ผมจึงแวะเข้าไปสอบถามเรื่องการซื้อและสังเกตระบบการทำงานในนั้น ที่นี่ดูแตกต่างจากสหกรณ์พอสมควรเริ่มตั้งแต่การรับซื้อ ทันทีที่รถนำผลผลิตมาส่งคนงานก็จะเริ่มการชั่งน้ำหนักในรอบแรก คนจดน้ำหนักจะนั่งบนเก้าอี้เตี้ยให้สายตาทำมุมฉากกับหน้าปัดตราช่าง มีการจดเศษทศนิยมตามที่ปรากฏบนหน้าปัด ต่างจากสหกรณ์ที่คนจดยืนดูอยู่ห่าง ๆ ปัดเศษทศนิยมลงเป็น .๐ กับ .๕ เท่านั้นอีกทั้งยังทำการชั่งแค่รอบเดียว เมื่อจดน้ำหนักรอบแรกเสร็จพวกเขาก็จะทำการคัด จากนั้นก็จะรวมน้ำหนักทั้งหมดแล้วส่งให้เกษตรกรตรวจสอบว่าตรงกับน้ำหนักตอนที่ชั่งในตอนแรกหรือไม่ จากนั้นจึงจ่ายเงินค่าผลผลิต ผมถามที่นี่ว่าจะรับซื้อจนถึงเมื่อไร พวกเขาตอบว่าจะรับซื้อจนลูกสุดท้าย

 

ถึงแม้ล้งเจ๊นี่จะดูดีกว่าแต่ผมก็ยังไม่ได้เปลี่ยนมาขายให้ที่นี่อย่างเต็มตัว ผมมักโทรถามราคาจากผู้รับซื้อก่อนตัดสินใจขาย หลายที่ไม่ตอบหรือทำลีลามากกว่าจะตอบ ส่วนล้งเจ๊นี่ตอบทุกครั้ง ผมรู้สึกว่าที่นี่จริงใจมากกว่าจึงขายให้ที่นี่ตลอดนับตั้งแต่นั้น

 

หลายคนบอกว่ามังคุดปีนี้ออกน้อยกว่าปีก่อน ผมจึงคาดว่าราคามังคุดน่าจะดี แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากในปีนี้ล้งรับซื้อผลไม้หลายแห่งก็ไม่เปิดทำการเสียเฉย ๆ เหลือเพียงเจ้าใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งออกและเจ้าเล็ก ๆ ที่เป็นลิ่วล้อรับซื้อจากชาวสวนและส่งให้ล้งขนาดใหญ่อีกที ด้วยความที่มังคุดใช้เวลาร่วมสามเดือนในการพัฒนาผลพ่อค้าคนกลางจึงมีเวลาเหลือเฟือในการประเมินผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ล่วงหน้าว่าควรจะรับการสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศในปริมาณเท่าไร ดังนั้นถึงแม้ว่าปริมาณผลผลิต (Supply) จะไม่มาก แต่หากว่าคนกลางรับออเดอร์จากต่างประเทศมาน้อยราคาผลผลิตก็จะถูกกระทืบลงได้อย่างง่ายดาย มังคุดที่ถูกรับซื้อส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนเกรดเหลือเดนจะถูกคัดมาขายคนไทยและประเทศเพื่อนที่อยู่ปลายถนนสุขุมวิท เนื่องจากตลาดในประเทศเป็นเพียงตลาดเล็กการรับออเดอร์ส่งออกจึงมีผลมากต่อราคารับซื้อผลผลิต ความที่พ่อค้าคนกลางมีอำนาจในการกำหนดปริมาณผลผลิตที่ต้องการรับซื้อ (Demand) กลไกการตลาดของ Adam Smith ที่ควรจะถูกขับเคลื่อนด้วยมือมองไม่เห็น (Invisible hand) จึงกลายเป็นง่อยไปในทันที

 

กลับมาที่สวนอีกครั้ง ญาติบอกว่าผมเก็บมังคุดเองไม่ได้ต้องให้คนงานมาเก็บ ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเพราะชาวบ้านก็มีสองขาหน้าอย่างที่ผมมี แต่พอได้ลองเก็บดูก็รู้สึกว่ายากอย่างที่แกพูด อย่างไรก็ตามคิดว่าหากทำบ่อย ๆ ก็คงจะชำนาญขึ้นเอง ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วว่าแกตกลงกับคนปลูกพริกว่าไหน ๆ ก็ไม่คิดค่าเช่าพริกแล้วพอถึงหน้ามังคุดก็ช่วยมาเก็บผลผลิตด้วย คำว่า "ช่วย" นี้ไม่ใช่การขอแรงฟรี แต่เป็นการจ้างตามปรกติ

 

และวันหนึ่งสิ่งที่ไม่อยากจะเกิดก็ เสือก เกิด จู่ ๆ ลูกชายคนปลูกพริกก็ไม่มาเก็บมังคุดเสียเฉย ๆ อาโกรธมากและขับรถไปที่บ้านแกทันที ผมไม่ได้ไปด้วยแต่ก็พอจะเดาได้ว่าอาจะพูดอะไร สักพักคนปลูกพริกกับกับลูกชายก็ขี่รถเครื่องมาที่สวน

 

รอดแล้วกู (ผมนึกในใจ)

 

แต่มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้นเสียทีเดียว น้าสุวรรณต่อรองเรื่องค่าแรงเก็บมังคุดจาก กิโลละ ๓ บาท เป็น ๔ บาท แบบดื้อ ๆ ญาติผมพูดอะไรไม่ออกจึงได้แต่บอกว่า "ได้แต่ถ้าเก็บลูกเสียมาจะหักตังนะ" อย่างไรก็ตามเรายังคงจ่ายแบบเหมาตามค่าแรงขั้นต่ำอยู่เนื่องจากในช่วงแรกของการเก็บเกี่ยวปริมาณผลผลิตยังคงไม่มาก

 

จากนั้นไม่นานปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราปรับการเก็บเกี่ยวมาเป็นแบบวันเว้นวัน ช่วงปลายเดือนเมษายนเราเริ่มการจ่ายค่าแรงตามน้ำหนักที่เก็บได้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนเก็บมังคุด ผลผลิตที่มากขึ้นทำให้คนเก็บพริกและลูกสาวเอาเมียและลูกสาวมาช่วยเก็บด้วย ถึงกระนั้นก็ตามก็ดูเหมือนว่าจะเก็บไม่ทัน ญาติของผมจึงให้คนงานของแกอีกสองคนมาสมทบในตอนบ่าย

 

ปริมาณผลผลิตในสวนช่วงนี้ตกอยู่ประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมเศษ ๆ ต่อการเก็บเกี่ยวแบบวันเว้นวัน ในเดือนพฤษภาคมปริมาณผลผลิตได้ทะยานขึ้นจนถึง ๓๐๐ กิโลกรัมต่อวัน บางวันเราเก็บได้มากกกว่า ๕๐๐ กิโลกรัม! ผมควรจะดีใจมากกับปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มหาศาลถึงเพียงนี้ แต่ทันทีที่มังคุดมีมากขึ้นล้งผลไม้ (Fruit Sorting Station) ก็จะงัดกลยุทธการทำสวนบนหลังคนขึ้นมาใช้ในรูปของกลไกการคัดผลไม้ 





การซื้อเหมา การคัด และการผูกขาดทางการค้า – กลไกอุบาทว์ที่ผู้บริโภคไม่เคยรับรู้
ในช่วงต้นฤดู (มีนาคม – ต้นเดือนเมษายนโดยประมาณ) ล้งรับซื้อผลไม้หรือสหกรณ์ จะเปิดรับซื้อมังคุดในราคาที่สูงมาก (อาจมากกว่า ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม) โดยไม่มีการคัดเกรด พวกเขาจะรับซื้อทุกผลผลิตทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงขนาดและรูปร่างหน้าตา ผู้รับซื้อทุกเจ้าจะตั้งราคาแข่งกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวสวนส่งผลผลิตให้พวกเขา เป็นที่เข้าใจว่าหากส่งผลผลิตให้ที่ไหนแล้วก็ต้องส่งที่นั่นจนจบฤดู หากขาดส่งเกินสามวันล้งผลไม้ก็จะไม่รับซื้ออีกต่อไป


เมื่อผลผลิตเพิ่มมากขึ้นล้งรับซื้อก็จะเริ่มดำเนินกลไกอุบาทว์ นั่นก็คือการคัดผลไม้ สำหรับคนทั่วไปมังคุดอาจมีเพียงลูกที่กินได้กับลูกที่แข็งโคตรพ่อโคตรแม่ แต่สำหรับหรับคนกลางแล้วพวกเขาแบ่งออกมังคุดออกได้ถึง ๗ - ๙ เกรด ประกอบด้วย มันร้อย (มันใหญ่), มันเล็ก, มันลาย, มันจิ๋ว, กาก (พวกเขาพยายามจะสื่อว่าผิวมังคุดเหมือนเป็น "ขี้กลาก" แต่สะกดไม่ถูก),  ตกไซร้ (ผมเองก็สงสัยเช่นเดียวกับท่านว่าทำไมต้อง "ไซร้" แบบนั้น), ดอกดำ และแตก แต่ละอย่างมีลักษณะภายนอกที่คนคัดมโนขึ้นดังนี้
        




มันร้อย (มันใหญ่) – มีขนาด ๘๐ กรัมขึ้นไป แต่เอาเข้าจริงคนคัดเลือกเอาแต่ลูกที่ใหญ่กว่านั้นมากกกกก คำว่า "มัน" หมายความว่ามังคุดจะต้องไม่มีตำหนิเลยแม้แต่นิดเดียว นี่รวมถึงส่วนที่ไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนคิดจะแดกรับประทาน เช่น "ขั้ว" หรือ "หู" ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากเพราะขั้วมังคุดจำนวนไม่น้อยก็จะมีจากการสอย การถ่ายลงตะกร้า และการขนส่ง นอกจากนั้นขั้วที่ไม่มีตำหนิเลยยังหมายถึงการพ่นยาฆ่าแมลงตั้งแต่มังคุดเริ่มผลิดอกต่อเนื่องไปตลอดระยะพัฒนาผล มังคุดผิวมันจะต้องถูกเก็บในระยะสายเลือด (blood line) คือเริ่มมีจุดแดง ๆ (ที่มนุษย์ทั่วไปแทบจะมองไม่เห็น) ปรากฏขึ้นบนเปลือกที่ยังคงเขียวอยู่ ประมาณหนึ่งสับดาห์หลังการเก็บเกี่ยวมังคุดสายเลือดจะกลายเป็นมังคุดสุกที่หมาไม่แดกไร้รสชาติและเปี่ยมสารพิษ แม้เปลือกจะกลายเป็นสีเกือบดำเมื่อสุกแต่คือขั้วจะเหี่ยว/หงิก ๆ หรือเป็นสีน้ำตาลเนื่องจากถูกเก็บเกี่ยวมานานแล้ว


มันเล็ก – ไร้ตำหนิและฉาบด้วยยาพิษเหมือนมันใหญ่ทุกประการแต่มีขนาดเล็กกว่า


มันลาย – ก็คือมังคุดมันใหญ่ดี ๆ นี่เอง แต่อาจมีตำหนิที่ผิวบ้าง อย่างไรก็ตามตำหนินี้แทบจะมองไม่เห็นเมื่อมังคุดสุก บางทีผมก็รู้สึกว่ามันลายก็คือมันใหญ่ที่ถูกจัดให้เป็นมันลายเฉพาะตอนคัด เวลาส่งออกพวกล้งก็จับมารวมกับมันใหญ่แล้วบรรจุไปในกล่องเดียวกัน


มันจิ๋ว – เป็นลูกมันที่มีขนาดเล็กและเปี่ยมสารพิษ

ขี้กาก – เป็นมังคุดที่ผิวไม่สวยเนื่องจากถูกเพลี้ยรบกวน บางล้งคัดเป็นสองเกรดคือ กากเล็ก และกากใหญ่




ตกไซร้ – เป็นมังคุดที่ไซร้ไม่ได้เรื่อง เอ้ย....เป็นมังคุดที่มีตำหนิที่หู/ขั้ว หรือ เปลือกเริ่มเป็นสีแดง หรือ เปลือกมียางซึมออกมาภายนอกเล็กน้อย หรือ เปลือกบางส่วนมีตำหนิเป็นรอยด้านจากเพลี้ยแป้ง หรือ เหี้ยไรก็ได้ที่พวกแม่งเขาจะหาเรื่องกดราคา


ดอกดำ – ไม่ว่ามังคุดจะมีขนาดเท่าไร ผิวสวยแค่ไหน แต่หากเปลือกมีสีเข้ม (สุกคาต้น) หรือผิวมีตำหนิมากก็จะถูกจัดเป็นเกรดนี้ มังคุดขนาดเล็กก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ ตลกร้ายคือมังคุดดอกจำนวนไม่น้อยกลับมีรสชาติดีกว่ามังคุดมันร้อยเสียอีก
        

แตก – มังคุดที่ถูกฝนจนน้ำซึมผ่านเข้าไปในเปลือก ทำให้เนื้อเกิดการบวมแข็งและขยายตัวจนเปลือกมีรอยปริ หรือขยายตัวจนไปเบียดกับท่อยางในเปลือกแตก ภายนอกอาจมองไม่เห็นยางแต่ยางจะซึมลงไปในผล จุดสังเกตคือเปลือกจะแข็งมาก




*มังคุดที่ขายอยู่ในประเทศส่วนใหญ่คือมังคุดขี้กาก ดอกดำ และแตก (ภาพประกอบด้านล่างถ่ายจากห้างตราดอกบัว)




หัวใจสำคัญของการคัดมังคุดการพยายามจำแนกให้มากที่สุดเพื่อกดราคารับซื้อ มันเป็นเรื่องน่าขันอย่างยิ่งที่ราคามังคุดที่เก็บจากต้นเดียวกันในวันเดียวต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


 

โปรดติดตามต่อภาค ๔