Popular Posts

Friday, November 07, 2014

เส้นทางสู่ความพอเพียง จตุบท – ความจริงกับสิ่งที่เคยเข้าใจ



การซื้อเหมา การคัด และการผูกขาดทางการค้า – กลไกอุบาทว์ที่ผู้บริโภคไม่เคยรับรู้ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

ราคามังคุดแต่ละเกรดแตกต่างกันเป็นอย่างมาก คนรับซื้อมักชูมังคุด “มันใหญ่/มันร้อย” ว่าเป็นมังคุดคุณภาพและให้ราคาสูงเพื่อล่อใจให้เกษตรกรนำผลผลิตมากขาย แต่เมื่อถึงเวลาคัดจริงมังคุดส่วนมากมักจะถูกคัดไปอยู่ในเกรดตกไซส์ (หรือ ตกไซร้ ตามที่ผู้รับซื้อเขียนในใบเสร็จ)

ตลกร้ายที่ชาวสวนขำไม่ออกคือมังคุดที่มีราคานอกจากจะต้องมีขนาดใหญ่และไร้ตำหนิโดยสิ้นเชิงแล้วมังคุดจะต้องอยู่ระยะสายเลือดในวินาทีที่ถูกคัด (เปลือกมังคุดยังคงเป็นสีเขียว แต่พอจะเห็นจุดแดง ๆ ปรากฏอยู่บ้าง) บ่อยครั้งที่มังคุดถูกเก็บในระยะสายเลือดแต่กว่าจะถูกคัดก็แทบจะข้ามคืนไปแล้วดังนั้นเปลือกจึงมีสีเข้มขึ้นทำให้ถูกจัดเป็นมังคุดเกรดที่ต่ำลงมา

ในเวลาเพียงวันเดียวเปลือกมังคุดยังเปลี่ยนสีได้แน่นอนว่ากว่ามังคุดจะส่งออกไปถึงต่างประเทศสีของเปลือกย่อมจะกลายเป็นสีเดียวกันหมดซึ่งก็คือสีม่วงเข้มเกือบดำ  ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า “แล้วพวกมึงจะคัดไปทำเหี้ยอะไรกันนักหนา?

นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะบางทีคำตอบนั้นมันอาจจะยากที่จะทำใจรับได้

คำถามต่อมา “เพราะเหตุในมังคุดส่งออกจึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากและไร้ตำหนิโดยสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่มังคุดที่ได้รับความนิยมในบ้านเราคือมังคุดขนาดค่อนข้างเล็ก” จุดเด่นของมังคุดลูกเล็กคือไม่ต้องคายเมล็ดเวลากินและไม่ค่อยพบอาการเนื้อแก้ว

มังคุดหากปลูกตามธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงก็จะไม่ได้มีคุณลักษณะตามที่ผู้ซื้อกำหนด แต่เพราเหตุใดเราจึงต้องฝืนธรรมชาติผลิตมังคุดขนาดใหญ่ไร้ตำหนิแทนที่จะส่งออกมังคุดลูกกลางและลูกเล็กซึ่งเป็นผลผลิตส่วนใหญ่และเป็นที่นิยมในบ้านเรา ทำไมเราการคุณสมบัติของผลไม้จึงเอื้อประโยชน์กับบริษัทเคมีเกษตรถึงเพียงนี้



นอกจากการคัดเกรดตามกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอนแล้ว (บางวันก็ ๕ เกรด บางบันก็ ๗ - ๘ เกรด แล้วแต่สถานที่รับซื้อ) ผู้รับซื้อยังเป็นคนกำหนดราคาและยังกำหนดแบบวันต่อวันด้วย ชาวสวนจะไม่รู้ราคารับซื้อล่วงหน้าจนกว่าจะไปถึงจุดรับซื้อ วันไหนที่ผลผลิตมากพวกนี้จะกระทืบราคาอย่างไม่เกรงใจฟ้าดิน ชาวสวนอาจดีใจในวันที่พวกเขาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มาก แต่เมื่อไปเห็นราคาที่จุดรับซื้อพวกเขาคงจะไม่รู้สึกเช่นนั้นอีกต่อไป จริงอยู่ที่ล้งรับซื้อและสหกรณ์มีอยู่เป็นจำนวนมากแต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกชาวสวนนึกจะไปขายไหนก็ไปได้ ดังที่ได้อธิบายไปในภาคก่อนแล้วว่าคนกลางจะรับซื้อจากเกษตรกรที่ส่งผลผลิตไปให้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นฤดู เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงไม่มีทางเลือกและต้องขายผลิตทั้ง ๆ ที่ราคารับซื้อต่ำมาก คนกลางจึงกลายเป็นผู้กอบโกยผลประโยชน์จากผลผลิตที่ตัวเองไม่ได้ปลูก การผูกขาดในรูปแบบนี้ทำให้คนกลางสนุกกับการกำหนดเงือนไขการรับซื้อทั้งราคาและรูปลักษณ์ แล้วชาวสวนจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาจะต้องซื้อปัจจัยการผลิตจากภายนอกอาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลงในราคาที่สูง พร้อมกันกับจะต้องแบกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นทุกวัน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าน้ำมัน แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะตั้งราคาผลผลิตที่ออกเพียงปีละครั้งจากการทำงานหนักตลอดทั้งปี

ราคามังคุดตามลักษณะการคัด
วันที่
มันร้อย
มันเล็ก
มันลาย
มันจิ๋ว
ตกไซส์
ดอกดำ
02-Apr
70
50
27
06-Apr
65
50
25
10-Apr
60
45
35
25
13-Apr
63
45
45
25
16-Apr
57
43
23
19-Apr
67
52
37
37
24
21-Apr
80
60
40
28
23-Apr
80
60
40
28
25-Apr
75
50
35
28
25-Apr
65
50
35
25
28-Apr
60
45
37
35
20
30-Apr
50
35
28
23
02-May
36
27
23
20
10
06-May
28
20
17
14
7
08-May
34
27
20
15
8
10-May
40
30
25
17
10
12-May
43
33
28
18
8
14-May
50
40
30
20
10
18-May
60
45
35
28
14
20-May
60
45
35
28
12
21-May
60
45
35
28
12
22-May
60
45
35
28
12



“แม่งไม่ต่างอะไรกับเกษตรพันธสัญญาเลย” มดมังคุดโพล่งขึ้นมาอย่างเดือดดาล

“มีเหี้ยยิ่งกว่านั้นอีก” ผมตอบอย่างราบเรียบก่อนขยายความต่อ
หากเกษตรกรไม่อยากจะขายผลผลิตให้กับล้งผลไม้ ทางเลือกไม่ได้อีกอย่างก็คือขายให้กับคนรับซื้อตามถนนใหญ่ คนพวกนี้มักจอดรถกระบะไว้ข้างทางแล้วนำผลไม้มาแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์ ในการซื้อขายคนพวกนี้จะกดราคาราวกับว่าไม่เห็นเกษตรเป็นคน เมื่อเลือกผลผลิตคนพวกนี้ก็จะเอานิ้วเขี่ย ๆ ดูเป็นพิธีก่อนจะรับซื้อที่ราคากิโลละ ๕ บาท (ห้าบาทถ้วน) เมื่อหักค่าเก็บเกี่ยวกิโลกรัมละ ๔ บาทออกแล้วชาวจะได้ส่วนแบ่ง ๑ บาทต่อกิโลกรัม  

อย่างไรก็ตามบางครั้งเกษตรกรก็ขายให้คนพวกนี้เพราะไม่อยากเสียเวลารอการคัดมังคุดที่ล้ง หรือ บางทีล้งก็ปิดทำการไปแล้วในช่วงปลายฤดู
พอมังคุดท่วมหลังคารถคนรับซื้อเร่ก็จะขนผลผลิตไปส่งตลาดไทหรือไปขายปลีกในเมืองหากรถไม่ตกข้างทางหรือยางระเบิดไปเสียก่อน พวกนี้จะเร่ขายในระคากิโลกรัมละ ๒๐ – ๓๐ กว่าบาท (๓ – ๕ โลร้อย) ซึ่งสำหรับเกษตรกรแล้วนี่เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง แต่ที่คนพวกนี้สามารถขายได้ในราคาที่ต่ำมากเนื่องจากพวกเขาทำงานเพียงแค่วันเดียว การขนแต่ละเที่ยวพวกเขาจะได้ส่วนแบ่ง ๑๕ – ๒๕ บาท/กิโลกรัม ในขณะที่เจ้าของสวนที่ต้องทำงานถึงหนึ่งปีกลับได้ส่วนแบ่งเพียง ๑ บาท/กิโลกรัม* จะมีผู้บริโภคซักกี่คนที่จะรู้ว่าผลไม้ที่กินกันนั้นมีราคาถูกกว่าต้นทุนการผลิตจริง และคนที่แบกต้นทุนให้ชาวเมืองได้กินผลไม้กันอย่างมีความสุขนั้นก็คือเกษตรกรจน ๆ นั่นเอง

[*จริง ๆ แล้วชาวสวนทำงานนานกว่านั้นเพราะกว่ามังคุดจะให้ผลเกษตรจะต้องดูแลอย่างน้อย ๗ ปี ซึ่งในช่วงเวลานี้พวกเขาจะต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า โดยที่ไม่ได้รับผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์เลย]



ผมเริ่มตั้งคำถามกับคำพูดของญาติที่ว่า “ปีก่อนสวนเราได้กำไรจากมังคุดประมาณสองแสนบาท” ผมเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด แต่จากยอดการขายในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผมว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้และผมก็เดาไม่ถูกว่าจะเก็บมังคุดไปขายได้อีกนานเพียงใด แต่ที่แน่ ๆ คือปริมาณผลผลิตต่อวันลดลงเรื่อย ๆ กำไรที่ผมได้ยินกรอกหูอยู่เกือบทุกวันปรากฏชัดมากขึ้นทุกทีในโลกแห่งความฝัน ญาติบอกว่าต้องทำใจซึ่งผมฟังแล้วรู้สึกหงุดหงิดพอสมควร เพราะเมื่อปีก่อนแกโวยวายใหญ่โตหาว่าผมรดน้ำน้อยไป มังคุดจะแกร็น ก้นจีบ ขายไม่ได้ราคา 

ผลผลิตของผมดูสมบูรณ์มาก แต่พอคนกลางกระทืบราคารับซื้อและคัดมังคุดเราเป็นตกไซร้เสียส่วนใหญ่ ผมก็ไม่เห็นว่าแกจะโวยวายอะไรสักคำแต่กลับบอกให้ผมทำใจ แล้วเราจะใส่ปุ่ยพ่นยาไปเพื่ออะไร? 

ช่วงหลังผมคิดเรื่องกำขาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ และคำนวณรายรับรายจ่ายทุกวัน ผมลงทุนไปมากและเริ่มใช้เงินเป็นตัววัดความสำเร็จของทุกสิ่งที่ทำ บางทีผมอาจจะฟังอะไรมากไปจนลืมฉลียวใจบ้างว่าผมมาทำอะไรที่นี่   

แม้ว่าผลผลิตในช่วงท้ายจะสูงกว่าในช่วงแรกแต่ด้วยกลไกการคัดมังคุดก็ทำให้รายรับที่ได้ไม่สอดคล้องกับปริมาณผลผลิต ผมพอจะเห็นปลายเหวทางอยู่ลาง ๆ

ความอัดอั้นจากกลไกอุบาทว์ทำให้ผมหาช่องทางการขายอื่น ๆ แต่นั่นไม่ง่ายเลย เพราะหากผมขนมังคุดไปขายเองในเมืองผมก็ต้องไปเจอการตัดราคาจากพวกรถเร่ ผมไม่สามารถขายผลผลิตในราคาเดียวกันกับพวกนี้ได้เพราะต้นทุนของผมสูงกว่าพวกเขามาก หนำซ้ำผมจะต้องควบคุมการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวันแล้วผมจะเอาเวลาที่ไหนออกไปขายไกล ๆ  

หากผมขายในราคาสูงกว่าก็อย่าได้หวังว่าจะมีคนซื้อ นอกจากนั้นมังคุดของผมในตอนนั้นก็ฉาบด้วยยาพิษเช่นเดียวกันกับที่ขายอยู่ทั่วไปแล้วผมจะขายมันในราคาสูงกว่านั้นได้อย่างไร
ผมจึงต้องหาความแตกต่างให้กับผลผลิตของผมแต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดนัก หากเป็นผลไม้อื่นผมอาจใช้ความแตกต่างทางสายพันธุ์เป็นจุดขายได้ เช่น ทุเรียนซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์อาทิเช่น หมอนทอง พวงมณี กระดุม ฯลฯ แต่มังคุดไม่ได้เช่นนั้นเพราะมันไม่ได้มีความแตกต่างที่ชัดเจน**

[**มังคุดมีดอกสมบูรณ์เพศและจะผสมพันธุ์ในดอกเดียวกันดังนั้นจึงเข้าใจกันว่ามังคุดมีสายพันธุ์เดียว อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยของต่างประเทศที่ระบุว่าสามารถจำแนกมังคุดได้ ๑๖ ลักษณะจาก ๘๓๐ ตัวอย่าง อีกทั้งจากประสบการณ์ตรงของผมเองก็พบว่ามังคุดแม้จะปลูกพร้อมกันและได้รับการดูแลที่เหมือนกัน บางต้นจะให้ผลที่มีเปลือกบางและมีรสหวานมากทุกลูกในขณะที่บางต้นจะให้ลูกใหญ่ที่มีเปลือกหนา]   



ในเมื่อผมไม่สามารถใช้ความปลอดภัย หรือ สายพันธุ์มาเป็นจุดขายได้ ผมจึงเลือกระยะการเก็บเกี่ยวมาเป็นจุดแข็งของผลผลิต เพราะเห็นว่ามังคุดที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นเป็นมังคุดอ่อนที่มาแก่ปลายทาง แน่นอนว่ารสชาติย่อมสู้มังคุดที่สุกคาต้นไม่ได้ แต่ชาวสวนก็นิยมเก็บแต่มังคุดระยะนี้ออกมาจำหน่ายเพื่อให้มีอายุการขายที่นาน ๆ ตามความต้องการของคนกลางและร้านค้าปลีก ด้วยความที่คนพวกนี้เห็นเรื่องเงินสำคัญกว่าคุณภาพ ดังนั้นผลผลิตมังคุดในตลาดจึงไม่ดีเท่าที่ควร

ความสุกของมังคุด
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้แบ่งระดับความสุกของมังคุดไว้เป็น ๗ ระดับดังนี้ :

-          ระดับสีที่ ๐ :  ผลมีสีขาวอมเหลืองสม่ำเสมอ มียางในเปลือกมาก เนื้อและเปลือกยังไม่แยกออกจากกัน ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แม้จะสามารถเปลี่ยนมาเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำแต่รสชาติจะไม่ดี

-          ระดับสีที่ ๑ : ผลมีสีเหลืองอ่อนอมเขียว มีจุดสีชมพูกระจายอยู่ในบางส่วนของผล ยางในเปลือกยังคงมีมาก ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แม้จะสามารถเปลี่ยนมาเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำแต่รสชาติจะไม่ดี

-          ระดับสีที่ ๒ : ผลมีสีเหลืองอ่อนอมชมพู มีจุดสีชมพูกระจายไปทั่วผล เป็นระยะอ่อนที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยว

-          ระดับสีที่ ๓ : ผลสีชมพูสม่ำเสมอ จุดประสีชมพูขยายเข้ามารวมกันไม่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ยางในเปลือก เริ่มจะแยกเนื้อออกจากเปลือกได้

-          ระดับสีที่ ๔ : ผลสีแดงหรือน้ำตาลอมแดง บางส่วนอาจมีสีม่วง ยางในเปลือกมีน้อยหรือไม่มีเลย เนื้อและเปลือกแยกตัวออกจากกัน เป็นระยะที่เกือบจะรับประทานได้

-          ระดับสีที่ ๕ : ผลสีม่วงอมแดง ภายในเปลือกไม่มียางเหลืออยู่ เนื้อและเปลือกแยกออกจากกันได้ง่าย สามารถรับประทานได้

-          ระดับสีที่ ๖ : ผลสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ ภายในเปลือกไม่มียางเหลืออยู่ เนื้อและเปลือกแยกออกจากกันได้ง่าย สามารถรับประทานได้

ในหนังสือคุยเฟื่องเรื่องมังคุดระบุว่ามังคุดที่เหมาะสมกับการการส่งออกคือมังคุดที่ถูกเก็บเกี่ยวในระยะสายเลือด หรืออยู่ในระดับสีที่ ๒ แต่ในการรับซื้อจริงคนกลางต้องการมังคุดในระดับสีที่ ๑ มากกว่า

ความทุกข์ที่มาจากความไม่สุก
เมื่อเทียบกับมังคุดสุกที่มีสีแดงเข้มหรือดำ “มังคุดสายเลือด” จะสอยยากกว่ามากเพราะมันดูคล้ายกับมังคุดดิบเป็นอย่างยิ่ง หากมองย้อนแสงหรือสอยในเวลาเย็นโอกาสที่ได้สอบผิดได้ลูกดิบก็จะมีมาก เมื่อนำไปขายคนกลางก็จะตีกลับ ทำให้เจ้าของสวนเสียผลผลิตและค่าเก็บไปเปล่าๆ บางสวนที่เขี้ยว ๆ หน่อยก็จะหักเงินค่าเก็บมังคุดดิบจากคนงาน แต่เจ้าของสวนก็ยังคงขาดทุนเพราะค่าเก็บย่อมถูกกว่าราคามังคุด ในแต่ละปีจึงมีการสูญเสียในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้แบกรับภาระนี้

มังคุดระยะ 0 ที่อาจถูกสอยลงเพราะดูคล้ายมังคุดสายเลือด


เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ในตลาดคือมังคุดอ่อนที่มาสุกปลายทาง ผมจึงคิดจะนำมังคุดที่สุกคาต้นมาเป็นจุดขายของตัวเอง ผมสร้างเพจ “ขวัญ – มังคุด” ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะโดยใช้ Description ว่า “ความสุกเพื่อความสุข” จุดแข็งของมังคุดที่นี่คือความสุกที่มากกว่าเนื่องจากเราจะส่งมังคุดจากสวนตรงไปยังผู้ซื้อโดยไม่ผ่านคนกลาง ด้วยกระบวนการที่สั้นลงผมจึงไม่ต้องกังวลเรื่องอายุการวางจำหน่ายทำให้สามารถเก็บมังคุดสุกคาต้นมาขายได้ อย่างไรก็ตามปัญหาในตอนนั้นคือค่าส่ง EMS ซึ่งแม้ว่าผลไม้จะได้ราคาพิเศษแล้วแต่ก็ยังจัดว่าสูงมากงานนี้จึงล่มตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

*************************************

ผลผลิตมังคุดขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมและลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงปลายเดือนคนงานที่ล้งถามทุกวันว่ามังคุดยังเก็บได้อีกนานไหม ผมก็ตอบไปตามจริงว่าน่าจะได้จนถึงกลางเดือนมิถุนายนเพราะสวนผมออกช้ากว่าเพื่อน แม้ว่าผลผลิตในตลาดจะลดลงไปมากแต่ราคารับซื้อกลับไม่กระเตื้องขึ้นมาซักเท่าไร หนำซ้ำผมก็กังขากับการระบบการคัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทำไมมังคุดของผมจึงตกไปอยู่ในเกรดล่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ทั้ง ๆ ที่มีลักษณะภายนอกค่อนข้างดี

จู่ ๆ ล้งแห่งนี้ประกาศหยุดรับซื้อเสียเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมยังสามารถเก็บมังคุดได้อีกหลายอาทิตย์

“เราจะรับซื้อจนถึงลูกสุดท้ายค่ะ” มือขวาของเจ๊เคยพูดกับผมไว้แบบนั้น
.
.
.
ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสหกรณ์ซึ่งผมไม่ได้ไปขายมาพักใหญ่ ๆ โชคดีที่ผลผลิตในตลาดมีน้อยพวกนั้นจึงรับซื้อมังคุดผม ข้อดีการเอาผลผลิตมาขายที่อื่นก็คือผมจะได้เปรียบเทียบสัดส่วนมังคุดแต่ละเกรดเมื่อถูกคัดแล้วเพราะในช่วงนั้นผมรู้สึกตะหงิด ๆ กับการคัดของล้งเจ๊คนนี้เป็นอย่างยิ่ง แล้วคำตอบที่ได้ก็คือที่สหกรณ์ผมขายได้ราคาเป็นสองเท่าทั้ง ๆ ที่ปริมาณผลผลิตและราคารับซื้อก็ใกล้เคียงกัน
ที่มูลค่าผลผลิตแตกต่างกันถึงเพียงนั้นเพราะล้งเจ๊นั่นคัดมังคุดผมเป็นตกไซร์เสียส่วนใหญ่ในขณะที่สัดส่วนของมังคุดตกไซร้เมื่อไปขายที่สหกรณ์มีน้อยกว่านั้นมาก

“ควายมานานเลยกู...นอกจากจะหักหลังหยุดรับซื้อเอาดื้อ ๆ แล้ว แม่งยังคัดมังคุดดี ๆ เป็นเกรดล่างหมด...” ผมสบถอยู่ในใจ

*************************************

หลังจากนั้นไม่นานสหกรณ์ก็ปิดเช่นเดียวกัน งานเก็บเกี่ยวจึงต้องยุติลงโดยบริยายในเดือนมิถุนายน ผมรีบทำบัญชีให้เสร็จแล้วนำส่วนแบ่งให้ญาติครึ่งหนึ่ง กำไรเบื้องต้นในปีนี้อยู่ที่ ๖๐,๐๐๐ กว่าบาท ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงสักนิดกับ ๒๐๐,๐๐๐ อย่างที่ผมได้ยินมาตลอดทั้ง ๆ ที่ผมใส่ปุ่ยและพ่นยาพิษเพื่อให้ลูกสวยตามคำแนะนำ เมื่อหักส่วนแบ่งของญาติออกไปรายได้ของผมในปีนี้ก็จะเท่ากับ ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท มันน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง ๓ เท่า คิดง่าย ๆ ว่าผมได้ค่าแรงวันละไม่ถึง ๑๐๐ บาท



“ผลไม้มันจะออกดกปีเว้นปี” เสียงหนึ่งพูดอย่างราบเรียบในวันที่ผมนำเงินส่วนแบ่งไปให้ ผมพูดอะไรไม่ออก ในใจของผมมีแต่คำถามว่าทำไมไม่มีใครเคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลยสักครั้ง สิ่งเดียวที่ได้ยินคือปีนี้ผลผลิตก็น่าจะมากกว่าปีก่อน และถ้าพ่นยาเพื่อทำมังคุดผิวมันก็น่าจะได้กำไรมากขึ้น 

ต่ความเป็นจริงที่ผมกำลังเผชิญอยู่นั้นมันช่างแตกต่างราวกับมังคุดกับทุเรียน...

จบ EP1 โปรดติดตามต่อใน EP2 "บนเส้นทางที่เลือกเอง"