Popular Posts

Wednesday, June 08, 2011

TRADITIONAL PALI CHANTS





อารัมภบท – ถ้าขี้เกียจอ่านความไร้สาระที่ไร้สาระกว่าที่คิดให้ข้ามไปที่ TRADITIONAL PALI CHANTS
ได้เลย

หลายปีก่อนผมบ้าอัพบล็อกมากขนาดที่บอกกับหลาย ๆ คนว่า "พวกมึงไม่ต้องคุยกับกูก็ได้นะ อยากรู้อะไรก็ไปอ่านในบล็อกกูก็แล้วกัน"

แม้แต่กับแม่ ผมก็บอกอยู่เสมอว่า "นาน ๆ เจอกันทีแม่อยากรู้อะไรก็ไปอ่านในบล็อกเอาเองนะ"

บล็อกเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ใคร ๆ จะได้เห็นตัวตนที่ (อาจจะ) แท้จริงของผม โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้จักกันมาก่อน หรือจะต้องมองผ่านเปลือกที่ผมไม่ค่อยจะใส่ใจว่ามันจะเป็นอย่างไร และผมก็ไม่ค่อยจะสนใจว่าเพื่อนร่วม (หรือไม่ร่วม) อุดมการณ์จะเป็นใคร ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงมีความพิเศษสำหรับผมเป็นอย่างยิ่ง

.

.

.

แต่แล้ววันหนึ่ง.........พลังลูกบ้าที่เคยมีอยู่มากมายมันหายไปหมดสิ้น.........มิผิดหากจะยกย่องว่าผมเป็นบล็อกเกอร์ที่ตายทั้งเป็น

..............................................................................................................

"มึงจะเกริ่นทำห่าอะไรนักหนา" หนอนบล็อกแขวะอย่างสุภาพ


ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมต้องทนกับความน่าสมเพชของตัวเองในการเขียนโครงการนำเสนอเพื่อขอตังค์คนอื่นมาสานฝันในอดีตและปัจจุบัน ยิ่งโครงการแรกถูกปฏิเสธการเขียนโครงการอันต่อมาก็อืดขึ้นไปอีกหลายเท่า แต่ละวันหมดไปกับการนั่งเทียนเขียนอย่างแดกดัน แต่ด้วยความถึกทนดั่งควายธนูผมก็แดก ๆ ดัน ๆ ไปจนเสร็จ และเมื่อไม่ต้องทำเรื่องที่ต้องทำอีกต่อไป จึงได้ทำเรื่องที่ไม่ต้องทำแต่อยากจะทำเสียที

.

.

.

และพลังลูกบ้าก็กลับมาอีกครั้ง ราวกับฟ้าใสหลังมรสุม

..............................................................................................................

TRADITIONAL PALI CHANTS

ผมตั้งใจจะออกหนังสือมานานแล้วและก็เกือบจะได้อยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยคิดเลยสักครั้งในชีวิตเลยว่าหนังสือเล่มแรกจะออกมาในแนวนี้

ราว ๆ เดือนพฤษภาคมปี 2010 ซึ่งเป็นเดือนที่ 11 ในชีวิตผ้าเหลืองของผมมีชาวมาเลเซียมาขอบรรพชาและอุปสมบทที่วัดจำนวนทั้งหมด 12 รูป เดิมทีนั้นอุบาสกกลุ่มนี้ได้ติดต่อไปที่วัดสระเกศแต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่หลวงพ่อสมเด็จจึงส่งพวกเขามายังวัดที่ผมอยู่ ความหล่อแบบอินเตอร์ทำให้ผมมาในโครงการนี้พร้อมกับพระอีกสองรูปคือ หลวงพ่อณัฐวุฒิ และหลวงพี่ยศพัชร์ (บาส) พวกเราทั้งสามมีหน้าที่อบรมดูแล อำนวยความสะดวก สอนการขานนาค (การขอบวช) รวมถึงการสอนสวดมนต์ทำวัตรให้กับสมาชิกใหม่

อุปสรรคไม่ใช่แค่การสื่อสารแต่ยังรวมถึงการรวบรวมเรียบเรียงบทสวดจากแหล่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้ตรงกับหนังสือสวดมนต์ที่ทางวัดใช้เพื่อให้พระใหม่สามารถร่วมทำวัตรสวดมนต์กับพระเก่าได้ หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงให้ความกับการสวดมนต์นัก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะก่อนที่จะมีการบันทึกพระธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรพระสงฆ์ใช้การท่องจำในการบันทึกเพียงอย่างเดียว และจะมีการสวดพร้อมกันอยู่เรื่อย ๆ เพื่อทบทวนความถูกต้อง เหตุนี้การสวดมนต์จึงเป็นการรักษาพระธรรมอีกวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการทบทวนคำสอนไปพร้อมกัน

การเรียบเรียงที่เริ่มจากศูนย์ในเวลาที่จำกัดทำให้เอกสารประกอบการสวดมนต์ชุดแรกออกมาในรูปแบบของ A4 เย็บแม็ก ที่แจกไปพร้อมกับคำพูดในแววตาว่า "ขอโทษนะท่านที่ไม่ค่อยพร้อม แต่..........มีให้ใช้ก็บุญแล้ว!"

นอกจากพระแล้วทางวัดก็มีชาวต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดปี แต่น้อยคนนักที่มาร่วมทำวัตรสวดมนต์ และคงไม่มีสักคนเลยที่เข้าใจความหมายของสิ่งที่พวกเราท่องบ่นออกไป ผมนึกถึงวัดป่าที่เคยไปอยู่ปฎิบัติธรรมซึ่งมีพระชาวต่างประเทศอยู่มาก แต่พระทุกรูปก็เข้าทำวัตรสวดมนต์ตามปรกติเพราะที่นั่นมีหนังสือสวดมนต์แปลฉบับภาษาอังกฤษเป็นของตัวเอง


บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมีหนังสือแบบนั้นเป็นของตัวเองบ้าง

..............................................................................................................

ผมหันไปหาหลวงพี่บาส ทีมงานแก๊งเสื้อส้มซึ่งเป็นมือซ้ายของผมในตอนนั้นพร้อมกับบอกสิ่งที่ผมคิดให้ท่านทราบ........และการทำหนังสือก็เริ่มขึ้น เราแบ่งงานกันทันทีโดยหลวงพี่บาสมีหน้าที่รวบรวมบทสวดมนต์จากแหล่งต่าง ส่วนผมจัดรูปเล่มภายในให้สอดคล้องกับเล่มหลักที่ทางวัดใช้ นอกจากนั้นยังได้หลวงพ่อณัฐวุฒิมาช่วยพิมพ์อีกแรงทำให้งานในช่วงแรกเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว พวกเราตกลงกันในรายละเอียดหลายอย่างเพื่อให้หนังสือเล่มใหม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้อย่างแท้จริง เช่น การพิมพ์ชื่อคาถาด้วยภาษาอังกฤษและภาษาไทยทั้งในตัวเล่มและสารบัญเพื่อให้คนไทยสามารถช่วยเพื่อนชาวต่างชาติเปิดหาหน้าที่กำลังสวดได้, การติดแถบชื่อบทสวดมนต์ที่สวดบ่อยให้ยื่นออกมาข้างหนังสือเพื่อให้สามารถพลิกหน้าได้อย่างรวดเร็ว, การแทรกบทความมารยาทการทำวัตรสวดมนต์, การอ่านออกเสียงภาษาบาลีตัวอักษรโรมัน รวมถึงความหมายของธูป เทียน และดอกไม้ เป็นต้น

ส่วนการพิมพ์นั้นตั้งใจว่าจะทำกันอย่างเรียบง่ายและประหยัดโดยไม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องออกมาอย่างอลังการด้วยทุนสร้างแปดพันล้าน ผมนึกถึงแนวคิดที่ เติ้ง เสี่ยว ผิง เคยกล่าวไว้ว่า

"No matter if it is a white cat or a black cat; as long as it can catch mice, it is a good cat."

"ไม่ว่าแมวจะสีขาวหรือสีดำตราบใดที่มันยังจับหนูได้มันก็คือแมวที่ดี"

ด้วยเหตุนี้จึงลงมือจัดรูปเล่มเองโดยใช้ Word และความรู้แบบไก่กาที่พอจะมีติดหัวมาบ้าง โดยตั้งใจว่าอย่างมากก็ไม่เกินสามเดือน ผมเลือกใช้ Font Pali Charter เพราะอักขระค่อนข้างอ้วนจึงอ่านง่ายถึงจะวางบนพื้นก็ยังอ่านออก ไม่ค่อยมีปัญหาเวลาที่แปลงไฟล์ Font อื่นมาใช้ และตัวอักษรพิเศษดูกลมกลืนกับตัวอักษรธรรมดา

เดิมทีผมตั้งใจว่าจะพิมพ์ไม่กี่เล่มไว้สำหรับใช้งานในวัดจึงบอกบุญในวงแคบ ๆ กะว่าได้แค่ค่ากระดาษก็พอใจแล้ว แต่วันหนึ่งความคิดนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเมื่อหลวงพ่อณัฐวุฒิบอกผมว่า

"หลวงพี่ทำมาเลย เงินขาดเท่าไหร่เดี๋ยวผมจัดการเอง เดี๋ยวผมไปบอกหลวงป๋า (เจ้าอาวาส) ให้ (เพื่อขออนุญาตจัดพิมพ์)"

เมื่อกลายมาเป็นโครงการของวัด ขั้นตอนถัดไปคือการไปปรึกษากับพระอาจารย์มหาประเสริฐ เพื่อคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติม และในวันนั้นเองยอดจัดพิมพ์ที่คิดว่าจะทำกันขำ ๆ ไม่กี่เล่มก็กลายมาเป็น 2,000 เล่ม เราประเมินกันคร่าว ๆ ว่าหากค่าจัดพิมพ์ตกเล่มละ 65 บาท โครงการนี้จะต้องใช้เงินถึง 130,000 บาท งานนี้ถ้าหลวงพ่อวุฒิไม่ออกปากว่าจะช่วยผมคงไม่กล้าพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวมากถึงเพียงนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามพวกเราก็ทำการบอกบุญกันอย่างขันแข็งโดยมีหลวงพี่บาส เป็นแกนนำ ผมได้เมลจาก Eunice ว่ายินดีจะบริจาคเงินสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ 1,000 พร้อมกับขอหมายเลขบัญชีธนาคารของผม โดยเธอขอผมอย่างเดียวว่าไม่ต้องการมีชื่อในหน้าผู้บริจาค ผมปรับยอดสมุดในอาทิตย์ถัดไปและพบว่าเงิน 1,000 นั้น ไม่ใช่พันบาทแต่คือพันดอลล่าร์!!! กำลังใจของพวกเราเพิ่มขึ้นอีกโข

เมื่อจะต้องจัดพิมพ์อย่างเป็นทางการ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการออกแบบปก ด้วยเหตุนี้จึงเดือนร้อนถึงพี่โอ๊คที่สึกไปราวครึ่งปีก่อน พี่โอ๊คใช้เวลาราวสองอาทิตย์ก่อนส่งตัวอย่างปกหนังสือมาให้ผมซึ่งงานปกนั้นกลายเป็น Talk of the temple อยู่พักนึง ด้วยความชำนาญด้านการออกแบบและงานพิมพ์ทำให้ภายหลังพี่โอ๊คกลายมาเป็นหนึ่งในทีมงานสำคัญของโครงการนี้

..............................................................................................................

ไม่เสร็จไม่เลิก

การเด็ดดอกไม้ดอกเดียวทำให้จักรวาลสะเทือนได้ฉันใด การเปลี่ยนแปลงเพียงหนึ่งอักขระก็อาจทำให้หน้าเด้งทั้งเล่มได้ฉันนั้น

หนังสือที่ดูเหมือนจะเสร็จแต่ก็ไม่เสร็จเสียที ด้วยเหตุที่ตัวอักษรโรมันสำหรับภาษาบาลีมีรายละเอียดยิบย่อยมาก อีกทั้งข้อมูลที่ได้มาก็มีคำผิดปนอยู่ไม่น้อย หนำซ้ำบางเล่มเขียนเป็น Karaoke ซึ่งแม้จะทำให้ดูอ่านง่ายแต่เป็นการทำลายรากศัพท์แบบไม่เหลือชิ้นดี ทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาภาษาบาลีใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย หลายท่านอาจไม่ทราบว่าบทสวดมนต์ที่เราสวด ๆ กันอยู่นั้นมีหลายบทที่เป็นฉันท์ซึ่งมีฉันทลักษณ์ตายตัว (พระพุทธเจ้าตรัสเป็นบุรุษพิเศษตรัสครั้งละ ๘ คำ!) ดังนั้นการตรวจทานจึงเป็นไปดุเดือดเพื่อรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์ ที่น่าสนใจคือพวกเราพบคำผิดในหนังสือแทบทุกเล่มที่นำมาใช้อ้างอิง!.............แล้วผมจะเชื่อเล่มไหนดี

งานช่วงนี้ช้ามากจน.......ผมกลับสู่เพศคราวาส! ปล่อยให้หลวงพี่บาสบอกบุญและประสานงานกับ พม.ประเสริฐเพียงลำพัง แต่ถึงกระนั้นก็ตามผมยังคงช่วยงานที่วัดต่อไปเรื่อย ๆ

..............................................................................................................

Just so Few

หนึ่งในความประทับใจที่สุดในการทำหนังสือเล่มนี้คงจะหนีไม่พ้นการหาบทแปลของ "คติของสัตว์ ส่วนน้อย – ส่วนมาก" ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่อยู่ในหน้าสุดท้ายของหนังสือสวดมนต์ฉบับภาษาไทยของวัด ยังดีที่มีอ้างอิงไว้ด้านล่างว่า "พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร ข้อ ๒๐๔ หน้า ๔๔" ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาต้นฉบับจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ

ขันติไม่มีบารมีไม่เกิด

ดูเหมือนจะง่ายแต่พอเอาเข้าจริงข้อมูลอ้างอิงที่เราได้มาแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะการจัดเรียงพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษนั้นต่างกับของไทยโดยสิ้นเชิง ข้อมูลเดียวที่เป็นประโยชน์คือ "อังคุตตรนิกาย" ซึ่งในฉบับภาษาอังกฤษจะมีอยู่สี่เล่มจากสี่สิบกว่าเล่ม

พวกเรามาไกลเกินกว่าจะเดินถอยหลังหลวงพี่บาสกัดฟันคัดคัมภีร์ที่อยู่ในหมวดนี้ออกมาซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า 'The book of gradual saying' จากนั้นพวกเราจึงช่วยกันไล่หาทีละหน้าจบพบข้อความเดียวกันกับในฉบับภาษาไทย ผมอยากจะตะโกนออกมาเมื่อพบคำว่า....


'Even as, monks, in this Rose-apple Land1 trifling in number are the pleasant parks, the pleasant groves, the pleasant grounds and lakes, while more numerous are the steep precipitous places, unfordable rivers, dense thickets of stakes and thorns, and inaccessible mountains, - just so few in number are those beings that are born on land: more numerous are the beings that are born in water.

Just so few in number are the beings that are reborn among men: more numerous are the beings that are born among others than men.

Just so few in number are those beings that are reborn in the middle districts: more numerous are those reborn in the outlying districts, among the undiscerning barbarians.


1 Jambudīpa. One of the four 'great islands,' of which the southernmost includes India.

.

.

.

Just so few can to this. I believe.

..............................................................................................................

คิดง่ายแต่ทำนาน

ผมพิมพ์ข้อมูลทั้งหมดลงไปรวมถึงเชิงอรรถที่มีอยู่ในต้นฉบับที่ขยายความหมายของคำว่า Rose-apple Land ว่าคือ ชมพูทวีป ดังที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างด้านล่าง

Jambudīpa. One of the four 'great islands,' of which the southernmost includes India.

นี่เองที่ทำให้ผมฉุกคิดว่ามีคำที่ต้องการคำอธิบายอีกมากในหนังสือของพวกเราและนี่เองที่นำไปสู่การทำอภิมหา Footnote แม้ผมจะรู้ดีว่าหนังสือเสร็จช้ากว่าที่ตั้งใจไว้มากแล้วแต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้หนังสือเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้อย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก การทำ Footnote ได้อาศัยข้อมูลจากพจนานุกรมของ Buddhanet.net และ Glossary จากหนังสือไตรสิกขาของที่วัด ส่วนที่เหลือก็หาจากเว็บต่าง ๆ เหมือนจะง่ายแต่สิ่งที่ต้องระวังคือคำจำกัดความจากฝ่ายเถรวาทและมหายานนั้นไม่เหมือนกันเสมอไป ผมจึงจำเป็นต้องตรวจสอบจากตำราฝ่ายเถรวาทอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง

Footnote ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ทำสร้างปัญหากับการจัดหน้าและทำให้เสียเวลาแก้ไขอย่างมาก พื้นที่ด้านล่างที่เสียไปทำให้บทสวดมนต์ที่ถูกจัดหน้าเอาไว้แล้วเด้งทั้งเล่ม T T: ………………….. บางหน้าที่ผมทำเป็น 2 คอลัมน์เพื่อรักษาฉันทลักษณ์เละจนต้องตั้ง Tab ใหม่หมด ซึ่งผมมองไม่เห็นอนาคตเลยว่ามันจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรในการแก้ไขคราวนี้

ด้วยความสดของบัณฑิตใหม่ทำให้หลวงพี่บาสเสนอความคิดบรรเจิด ๆ ให้กับผมอยู่เสมอ ซึ่งทำให้หนังสือที่ช้าอยู่แล้วกลับช้ายิ่งขึ้นไปอีก ทว่าพวกเราเชื่อว่าหากทำแล้วไม่ดีกว่าของที่มีอยู่แล้วเราจะเสียเวลาทำไปเพื่ออะไร ผมตัดสินใจแปล "อานุภาพพระปริตร" เป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าช่วงแรกจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะคิดเอาว่าฝรั่งอ่านไปคงจะไม่เชื่อแล้วกลับจะมาหาว่าพวกเรางมงาย แต่สุดท้ายก็ทำตามที่หลวงพี่บาสเสนอโดยคิดว่าควรให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเชื่อหรือไม่

Project การแปลอานุภาพพระปริตรสำเร็จลงได้ด้วยความช่วยเหลือจากหลาย ๆ คน ได้แก่ พี่แก้ว อีโบ คุณชรินทร์และสหาย น้องแชมเปญจน์ รวมถึง Jessica ที่ช่วยตรวจทานให้

ไอเดียบรรเจิดของหลวงพี่บาสนอกจากจะทำให้ผมแทบจะกระอักเลือดแล้วยังทำให้สงฆ์ทั้งวัดเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ด้วยความหวังดีว่าคนที่ได้หนังสือไปจะสวดไม่เป็นจึงเสนอให้ทำซีดีบทสวดมนต์แนบไปกับหนังสือด้วย โชคดีที่ทางวัดได้บันทึกเสียงสวดมนต์ไว้บ้างจึงทำให้เราไม่ต้องเริ่มงานนี้จากศูนย์ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องไปอาราธณาพระอาจารย์ที่นำทำวัตรให้ช่วยสวดบทที่เรายังไม่มีไฟล์เสียงกันอยู่ งานนี้ต้องขอบคุณพระมหาชินที่กรุณาค้นหาไฟล์และบันทึกเสียงเพิ่มเติม รวมถึงภิกษุทุกท่านที่ร่วมกันสาธยายธรรม และที่ขาดไม่ได้คือทิดเอ็มที่ช่วยตัดต่อเสียงสวดมนต์ให้

พวกเราขาดอยู่สองบทซึ่งทางวัดไม่ค่อยนิยมสวดจึงต้องใช้ไม้ตายบุกสถานีวิทยุของวัดแล้วสวดกันเอง

..............................................................................................................

กว่าจะส่งโรงพิมพ์ได้

ก็ล่อไปถึงปลายเดือนตุลาคม Eunice และ Jessica ช่วยตรวจอยู่หลายตลบ อีกทั้งหลวงพ่อ Barton ช่วยดูซ้ำให้อีกครั้งจนผมมั่นใจว่า error ในเล่มอยู่ในระดับที่รับได้ ผมแปลงไฟล์เป็น PDF แล้วส่งไฟล์ราว 160 หน้าให้หลวงพี่บาสก่อนออกจากวัดในเดือนนั้น คอมผมพังทันทีที่งานนี้เสร็จ

เนื่องจากที่เป็นงานของวัดเราจึงนำหนังสือไปให้ท่านเจ้าอาวาสพิจารณาก่อนส่งโรงพิมพ์ แล้วก็ถูกตีกลับมาในวินาทีนั้นเพราะท่านไม่เห็นด้วยกับหน้าปกที่แนวไปหน่อย พร้อมให้เหตุผลว่าพระเศียรแหว่ง ๆ ไม่ดี เวลาทำอะไรให้ทำให้เต็ม ท่านชอบอะไรตรง ๆ และสว่าง ๆ

นั่นหมายความว่าปกซีดีที่ออกแบบไว้แล้วต้องถูกแก้ไขไปด้วย เดือดร้อนถึงคนออกแบบที่ต้องกลับมาทำปกอีกครั้ง!

จากประสบการณ์อันโชกโชนทำให้พี่โอ๊คออกแบบปกใหม่ถึง 3 แบบก่อนส่งให้หลวงพี่บาสเพื่อนำไปให้เจ้าอาวาสพิจารณาอีกครั้ง กะว่ายังไงก็ต้องเข้าตาซะอัน แต่หลวงพี่บาสไม่คิดอย่างนั้นเท่าไหร่

"พี่ขวัญ ดูสิไม่ผ่านหรอก อันนี้ก็ยังไม่เต็มองค์ อันนี้ก็เอียง อันนี้ทั้งมืดทั้งเอียง........."

แต่พิจารณาอยู่สักพักและยืนยันให้หลวงพี่บาสนำปกชุดใหม่นี้ไปเสนอ จากความรู้สึกของคนที่ทำงานศิลป์ด้วยกันผมเห็นว่าหน้าปกนี้พี่โอ๊คทำอย่างพบกันครึ่งทางที่สุดแล้ว………….และมันก็ผ่านอย่างที่ผมคิดไว้

..............................................................................................................

ไม่ได้จบกันง่าย ๆ

เดิมทีทางวัดจะเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์แต่โอ๊คอาสาจะหาโรงพิมพ์ข้างนอกที่ราคาถูกกว่าแต่ได้งานที่คุณภาพเท่ากัน อาจารย์ประเสริฐเห็นด้วยพวกเราจึงได้มาดูแลการจัดพิมพ์ดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก ไฟล์ทั้งหมดถูกส่งเข้าโรงพิมพ์ช่วงปลายปี 2010 และเงียบหายไปอยู่พักใหญ่ ผมมาทราบทีหลังว่าที่ช้าเพราะ Font เด้งทั้งเล่มเลย.......แล้วมันจะเสร็จไหมเนี่ย

คนที่จะขาดใจไม่น้อยไปกว่าผมน่าจะเป็นหลวงพี่บาสเพราะท่านตั้งใจว่าตราบใดที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่เสร็จท่านก็จะไม่สึก เดิมทีหลวงพี่จะบวชเดือนเดียวแต่ตอนนี้ก็ปาเข้าไปเกือบปีแล้ว

ผมได้รับ Digital Prove ที่ส่งมาจากกรุงเทพราวเดือนกุมภาพันธ์ การตรวจครั้งแรกพวกเราพบจุดผิดนับร้อยแห่ง ย่อหน้าที่ถูกจัดไว้อย่างดีเสียหายเหมือนถูกรถทับ หากผมย้อนเวลาได้ผมคงจะเริ่มทำงานนี้พร้อมหัดใช้โปรแกรม InDesign ไม่ใช่ Word ง่อย ๆ และงานก็คงจะเสร็จไปเป็นเดือนแล้ว

Digital Prove ฉบับที่สองและสามถูกส่งมาให้ผมหลังจากนั้นไม่นาน ผมตรวจอยู่หลายรอบก่อนส่งไปให้หลวงพี่บาสดูอีกครั้ง โชคดีที่ได้ทิดนนท์มาช่วยทำให้พวกเราพบคำผิดในจุดที่คิดไม่ถึงอีกหลายแห่ง.....อย่างไรก็ตามผมรู้สึกตงิด ๆ ทุกครั้งเวลาที่ตรวจงาน เพราะ Digital Prove ฉบับใหม่จะพบ error ใหม่ ๆ เกิดขึ้น พี่โอ๊คแนะนำให้ไปดูที่โรงพิมพ์และผมก็ได้ไปจริง ๆ ในเดือนเมษายน

..............................................................................................................

เฮือกสุดท้าย และการรอคอยที่ยาวนานของทุกคน

ถ้าไม่ได้เข้าไปดูเองที่โรงพิมพ์จะไม่มีวันรู้เลยว่าช่างไม่ได้ใช้ ไฟล์ PDF ที่ส่งไปให้ แต่ใช้ไฟล์ Word มาแก้ไขก่อนแปลงเป็น PDF แล้วส่งเข้า InDesign เนื่องจากใช้ Window กันคนละเวอร์ชั่น Font จึงเด้งกระจายแบบไม่เกรงใจคนทำ และสาเหตุที่ช้าคือช่างไม่ชำนาญ Word เพราะฉะนั้นการแก้แต่ละครั้งจะใช้เวลานานและทำให้หน้าอื่น ๆ เคลื่อนตามไปด้วย อีกสาเหตุหนึ่งคือความโง่ของผมเองที่ไม่ได้แก้ไข Layout หน้าให้เป็น A4 ทั้งหมดตั้งแต่แรก (เหตุที่ใช้คอมหลายเครื่องทำงานบางทีก็มึน ๆ ลืมดู) ทำให้ระดับของบรรทัดแถวบนและล่างสุดในบางช่วงของหนังสือไม่เท่ากันซึ่งช่างก็แก้ไม่สำเร็จเพราะใช้ Word ไม่ค่อยเป็น

ทางออกเดียวคือผมจะต้องแก้ไขเองทั้งหมดเพื่อให้หนังสือสามารถออกทันวันวิสาขบูชา ผมใช้เวลาอยู่ที่นั่นสองวันและถือโอกาสจัด Layout ใหม่ทั้งเล่มให้เป็น A4

ผมโทรหาหลวงพี่บาสทันทีที่การแก้ไขเสร็จสิ้น หลวงพี่ฉลองความสำเร็จนี้โดยการหาฤกษ์สึกที่เร็วที่สุด อีกไม่กี่วันหนังสือ Lot แรก จำนวน 500 เล่มก็มาส่งที่บ้านผม ผมกับพี่แก้วช่วยกัน Load ขึ้นรถบรรทุกของพี่แก้วเพื่อนำถวายวัดในวันรุ่งขึ้น ไม่แน่ใจว่าเพราะความความศักดิ์สิทธิ์หรือความหนักของหนังสือธรรมะทำให้ช่วงล่างอันแข็งกระด้างที่เพิ่งจะเปลี่ยนมากลายเป็นแข็งกำลังดี พวกเราและน้อง ๆ สามเณรช่วยกันยกหนังสือเข้าห้องคลัง ก่อนนำหนังสือบางส่วนไปถวายให้กับท่านเจ้าอาวาส การถวายเป็นไปอย่างเรียบง่ายตามแบบพุทธแท้ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับพิธีกรรมอันวุ่นวาย

"ดี...เอาไปกองไว้ตรงนั้นเลย"

..............................................................................................................

ปีติของการเป็นผู้ให้

หนังสือถูกจัดพิมพ์ทั้งหมด 2,105 เล่ม โดยเป็นแบบเย็บกี่ไสกาว 1,605 เล่ม และเป็นแบบเย็บลวด 500 เล่ม ซึ่งหลวงพี่บาสได้ทำการ Recall หนังสือแบบหลังเพื่อมาเปลี่ยนลวดจากเบอร์ 6 เป็นเบอร์ 8 โดยพี่โอ๊คเป็นคนออกทุนในการแก้ไข

แม้ว่าหนังสือจะเสร็จช้ากว่าที่ตั้งใจเอาไว้มากแต่งานที่ออกมาดีนั้นได้ยังปีติให้เกิดทั้งผู้ให้และผู้รับ ผมไม่เสียใจเลยที่มันออกมาช้าเพราะหากเรารีบทำแล้วงานออกมาไม่ต่างจากหนังสือสวดมนต์แปลฉบับอื่นเราจะเสียเวลาทำไปทำไม หน้าปกที่สวยงามและรูปเล่มที่เป็นระเบียบทำให้หนังสือดูมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น การทำ Footnote แบบ Hardcore ได้เป็นแรงบันดาลใจให้หนังสือ "วิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔" ของวัดนำเทคนิคเดียวกันมาใช้ อีกทั้งพี่โอ๊คยังได้รับเชิญมาเป็นผู้ออกแบบปกด้วย

ผมมองหนังสือทุกครั้งด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มใจ ผมรู้สึกเป็นหนี้บุคคลมากมายที่มีส่วนให้งานนี้สำเร็จลงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพี่บาส และพี่โอ๊ค อีกทั้งหลวงพ่อวุฒิที่เอ่ยปากว่าไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน ที่เหลือเชื่อคืองานนี้หลวงพ่อวุฒิไม่ได้ทำบุญปิดท้ายเพราะพวกเราได้รับเงินบริจาคเกินเป้า ซึ่งสิ่งนี่เองที่ทำให้ผมคิดได้ว่าอย่ากลัวที่จะทำความดี เพราะหากที่เราทำในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ในที่สุดก็ย่อมจะมีคนที่เห็นคุณค่าและเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แม้จะไม่มีใครเห็นแต่คุณค่าของงานก็จะยังความปลื้มใจให้กับเราเรื่อยไป

ขอให้ทุกท่านจงมีส่วนในกุศลอันนี้

5 comments:

Kwan - Extreme said...
This comment has been removed by the author.
Ant-Ameise said...

ได้อ่านเรื่องราวการทำหนังสือสวดมนต์ฉบับแปลนี้ไปครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะได้มีส่วนไปเพิ่มเติมส่วนที่ขาดไปซึ่งนั่นถือเป็นการทำงานส่วนที่เล็กน้อยมากๆๆๆเมื่อเทียบกับสิ่งที่ขวัญและแก๊งเสื้อส้มได้ทำเอาไว้ซึ่งเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ดีแล้ว (ต้องยกย่องทั้งทีมเลยที่ร่วมมือกันจนสำเร็จลุล่วง)

ทันทีที่แอ๊นกลับมาจากการร่วมเป็นส่วนที่เล็กๆๆมากๆๆๆส่วนหนึ่งของทีมงานทำหนังสือนั้นแอ๊นก็กลับมาเปิดบล็อกหัวข้อนี้อ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง และทำให้ได้รู้และเข้าใจในแต่ละตัวอักษรที่ขวัญอธิบายมาได้อย่างเห็นภาพมากขึ้นซึ่งนั่นไม่น่าจะได้ครึ่งของความมานะพยายามของขวัญเลย (เพียงแต่งานนี้มีความยากและละเอียดเกินกว่าจะสาธยายได้หมด)

ขวัญบอกว่าหัวข้อที่เล่าเรื่องการทำหนังสือนี้ขวัญเขียนไว้ค่อนข้างยาว.. ก็ยาวนะ แอ๊นได้อ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้เฝ้ามองแต่ละขั้นตอนในการทำงานไปด้วย และลุ้นไปพร้อมๆกันว่าจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นอีกและจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อ่านไปก็เอาใจช่วยไปด้วยในเวลาเดียวกัน ก็เลยรู้สึกเพลินกับเนื้อหามากกว่าจะสนใจในความยาว (แปลว่าคนเขียนเขียนเก่งนะคะเนี่ย ;-)

ถึงเรื่องที่เขียนจะค่อนข้างยาวแต่แอ๊นเชื่อว่าในแต่ละกระบวนการการทำงานและเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างทางตลอดเวลาปีกว่านั้นมันคงยืดยาวยิ่งกว่า กว่าที่จะนำมาเขียนบรรยายลงในพื้นบนบล็อกนี้ได้หมด

การเริ่มต้นจะทำสิ่งที่ดีๆนั้นก็เป็นสิ่งดีแล้วตั้งแต่ตอนที่คิดว่าอยากจะทำ ยิ่งได้ลงมือทำ จริงและสุดท้ายสามารถก้าวข้ามความย่อท้อและอุปสรรคต่างๆ จนสามารถทำความคิดริเริ่มดีๆอันนั้นออกมาเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ได้นั้นก็ยิ่งน่าชื่นชมเป็นที่สุด

จากครั้งแรกที่อ่านเรื่องนี้ก่อนได้สัมผัสหนังสือจริงๆนั้นก็คิดว่าหน้าปกดูนุ่มนวล สบายตาดี แต่ก็ไม่คิดว่าของจริงจะเล่มใหญ่ขนาด A4กระดาษมันอย่างดีและปกสวยขนาดนี้ แม้แต่แอ๊นเองที่ไปช่วยงานส่วนน้อยๆเท่านั้นก็ยังรู้สึกชื่นชมกับผลงานอยู่มาก ไม่สงสัยเลยที่ทุกๆครั้งที่แอ๊นแอบมองไป(ไม่บอกนะว่าแอ๊นแอบมองขวัญหรือหนังสือ) จะเห็นเจ้าของผลงานเค้ายกหนังสือขึ้นดูแล้วเอียงซ้ายขวาทั่วทุกมุมอยู่อย่างนั้นด้วยความภูมิใจ คงเพราะได้อยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่มันเป็นความคิดที่ลอยอยู่ในอากาศ จนในที่สุดด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ก็ทำให้มันกลายมาเป็นหนังสือที่มีรูปเล่มสมบูรณ์อยู่ตรงหน้า นั่นน่าเป็นความสุขใจที่ขวัญได้รับจากงานเขียนที่ได้บุญด้วยในครั้งนี้ (อนุโมทนาด้วยคนนะคะ)

ถึงแม้หนังสือเล่มแรกของขวัญที่ได้ตีพิมพ์จะเป็นหนังสือสวดมนต์ฉบับภาษาอังกฤษอย่างที่ขวัญไม่เคยได้คาดคิดมาก่อน(ใช่ไหม?) แต่นี่คือผลงานที่นักเขียนหลายๆคนทำไม่ได้ ไม่คิดที่จะทำ หรือไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะทำ.. แต่แอ๊นว่านักเขียนที่คิดจะทำงานเขียนที่ตัวเองรัก ลงทุน ลงแรง สละเวลาทำมันอย่างเต็มที่ โดยไม่หวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลงานที่ทำนั้นได้มีส่วนช่วยแผยแผ่ศาสนานั้น.. นักเขียนคนนั้นคือนักเขียนที่น่าชื่นชมและน่ายกย่องอย่างแท้จริง.. และคนคนนั้นก็คือ ขวัญ นี่เอง

"ไม่ว่าจะคนขาวหรือดำ... ตราบใดที่ยังรู้จักการเสียสละและทำเพื่อผู้อื่นนั้น เขาก็คือ คนที่ดี"...(แซวเล่นๆนะคะ)
จะว่าไป... คนดีๆนี่ก็... น่ารักมากนะคะ:-)

Kwan - Extreme said...

ทราบซึ้งจริง ๆ ที่อุตส่าห์เขียนมาให้กำลังใจอยางมากมาย แต่พออ่านบรรทัดสุดท้ายแล้วรู้สึกอยากจะหยิบ เชลไดรท์มาฉีดเล่น ๆ ยังไงไม่รู้

AnT-Ameise said...

กำลังใจที่จะให้ขวัญน่ะยังมีอีกแล้วก็มีแบบล้นๆไม่จำกัดเลย:-)... เขียนเรื่องดีๆมาให้อ่านอีกนะคะ งานเขียนของขวัญทำให้สามารถรู้จักขวัญในหลายๆมุมได้มากขึ้นจริงๆ
ปล. จะเอาเชนไดรท์มาทำอะไรจ๊ะ จะฆ่า มด หรือว่า ปลวก?? :-)

Jessica said...

The final outcome if the chant book and CD is just absolutely beautiful Kwan. Truely historical and an amazing achievement by all involved.Thank you for asking me to be apart of it all, although so small in comparison to other's efforts, it was still a great honor to share this merit together with everyone. Not to mention for years, possibley centuries, future generations can truely embrace these sacret Pali chants.Also thank you for all your teachings, your friendship, and most of all your love. Sometimes as humans we do not always see the greatest gift of all standing right before us.Buddhism has taught me how to find the guiding light of life and chanting radiates it into our vary core. Love you Kwan for this lifetime and beyond. For now we chant together from across the ocean.
Metta,
Jessica Dawn Ogden