Popular Posts

Monday, August 25, 2014

สู่เส้นทางแห่งความพอเพียง ปฐมบท

โปสเตอร์แผ่นนั้นสะกิดความกลัวของผมให้กลับคืนมา บนกระดาษไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปภาพแมลงศัตรูพืชหลากชนิดพร้อมคำบรรยายถึงภัยนานัปการจากพวกมัน ทุกหัวข้อจบลงด้วยคำแนะนำในการป้องกันกำจัดที่ระบุชื่อสารเคมีและปริมาณการใช้อย่างชัดเจน

"วันไหนเข้าเมืองค่อยไปซื้อเครื่องพ่นยา...."

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ปีเศษก่อนหน้านั้นผมเกษียณตัวเองในวัยไม่ถึง ๓๐ เพื่อออกมาทำสวนด้วยความหวังจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ปลูกผักกินเอง ไม่มีความคิดจะทำอะไรในเชิงพาณิชย์ ผมอยากอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่ต้องข้องแวะกับสังคมภายนอกมากนัก การเริ่มชีวิตเกษตรกรของผมนั้นอาจง่ายกว่าเกษตรกรมือใหม่หลาย ๆ ท่านเนื่องจากที่บ้านของผมมีสวนผลไม้อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมจึงไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนักในช่วงแรก ทว่าสิ่งที่ผมมีอยู่นั้นบางทีอาจไม่ใช่สิ่งที่ผมกำลังแสวงหา

 

หลายสิบปีก่อนพ่อของผมได้มาลงขันซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่จังหวัดตราดร่วมกับญาติ ๆ ตามคำชักชวนของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในกระทรวงเกษตร โดยญาติของผมได้อาสาเป็นคนดูแลสวนทั้งหมดเพียงลำพัง กำไรที่ได้จะแบ่งกันตามสัดส่วนของหุ้น อย่างไรก็ตามคำว่ากำไรกับสวนแห่งนี้มันขนานกันพอ ๆ กับแถวยางพารา

 

เมื่อกำไรมีอยู่แต่เพียงในจินตนาการ วันหนึ่งที่ดินทั้งผืนจึงถูกแบ่งออกให้กับญาติ ๆ ผู้ร่วมหุ้น แต่ทว่าญาติที่เป็นนักวิชาการเกษตรยังคงเป็นผู้ดูแลที่ดินแต่ละแปลงโดยลำพังให้เช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าครอบครัวของเรามีที่ดินอยู่ที่นี่ และผมก็ตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตที่เหลือที่นี่ทั้ง ๆ ไม่เคยเห็นสวนแห่งนี้มาก่อน
.
.
.
กลางปี ๒๕๕๔ ผมมาเหยียบผืนดินแห่งนี้เป็นครั้งแรก
.
.
.
ด้วยความที่เป็นช่วงกลางฤดูฝนถนนในสวนจึงอยู่ในสภาพที่รถเก๋งเล็ก ๆ ของผมไม่สามารถเข้าไปได้ ผมจึงต้องจอดรถไว้หน้าประตูสวนก่อนที่ญาติจะขับรถกระบะมารับไปที่บ้านพัก กว่าจะถึงที่พักรถก็วิ่งผ่านแปลงยางพาราหลายแปลง ญาติบอกว่าสมัยก่อนที่นี่เป็นสวนผลไม้ทั้งหมดแต่ด้วยความที่ราคาผลผลิตต่ำมากในขณะที่ค่าน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา และปัญหาการขาดแคลนแรงงานทำให้แกตัดใจโค่นสวนผลไม้ลงบางส่วนเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา

 

บ้านเป็นอาคารปูนชั้นเดียวด้านหน้ามี ๓ ห้องขนาดเท่า ๆ กันคือ ๔ x ๔ ห้องกลางเป็นห้องเก็บของ อีกสองห้องด้านข้างเป็นห้องนอน ด้านหลังเป็นห้องครัวยาว ๆ มีห้องน้ำอยู่ด้านละห้อง ทุกห้องไม่มีมุ้งลวด ดูเผิน ๆ มันดูเหมือนห้องเก็บของมากกว่าบ้าน เดิมทีมันเป็นบ้านพักคนงานที่สร้างไว้อย่างง่าย ๆ เราใช้เวลาที่บ้านไม่นานนักเพราะหมาดุมาก จากนั้นญาติก็ขับแทรกเตอร์พาชมรอบสวน ซึ่งเป็นแปลงมังคุด และ....ต้นอะไรสักอย่าง.... ภรรยาของแกบอกว่าเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาขายมังคุดแบบเหมารวม (ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลงให้ลูกสวยเพื่อส่งขายแบบคัด) ยังขายได้กำไร 2 แสนกว่า ปีนี้ถ้าผมมาทำให้ดี ๆ ก็น่าจะได้มากกว่านั้น

 

ผมเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับของฝากจำนวนมากจากสวน เช่น มังคุด ลองกอง และหน่อไม้ คนที่บ้านไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไรที่ผมจะมาทำสวนแต่อย่างไรก็ตามความตั้งใจของผมยังคงเป็นเช่นเดิม

 

ราวหนึ่งเดือนหลังจากนั้นผมเดินทางกลับมาที่นี่อีกครั้ง คราวนี้ผมตั้งใจจะอยู่ไปเรื่อย ๆ จึงมีเวลาสำรวจที่ดินอย่างเหลือเฟือ แปลงของพ่อมีอยู่ประมาณ 29 ไร่ พื้นที่เกือบครึ่งเป็นแปลงมังคุดอายุราว ๆ 20 ปีเศษ อีกเกือบครึ่งเป็นแปลงสละที่เพิ่งจะตัดทิ้งเหลือเพียงต้นสะตอที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วแปลง ส่วนที่เหลือเป็นป่าดั้งเดิมและป่าที่ปลูกใหม่เพื่อเป็นแนวกันชน เนื่องจากผมไม่เคยทำเกษตรในเชิงพาณิชย์มาก่อนญาติจึงมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ในปีแรกโดยตกลงจะออกค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่งและนำกำไรที่ได้มาแบ่งกัน ญาติแจกแจงค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ว่าจะตกประมาณ 60,000 บาท โดยจะเป็นค่าปุ๋ยเคมี และค่าแรง (วันละ 200 บาท ตามข้อตกลงหมู่บ้านในสมัยนั้น) การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินราวหมื่นเศษ ๆ โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคมเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามยังมีค่าใช้อื่น ๆ ยังไม่ได้พูดถึงอีกคือ ค่าปุ๋ยทางใบ ค่ายาฆ่าแมลง ค่าพ่นยา และค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เช่น ค่าน้ำมัน น้ำมันเครื่อง สายพาน แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำมารวมกันก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักเอาการ ผมลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าได้กำไรปีละ 2 แสน พอแบ่งครึ่งก็จะเหลือ 1 แสน ตกเดือนละไม่ถึงหมื่น มันน้อยมาก แต่ก็พยายามมองในแง่ดีว่าอยู่ที่นี่ค่าครองชีพไม่น่าจะสูงสักเท่าไร

 

อย่างไรก็ตามผมไม่เห็นด้วยเลยกับการทำเกษตรเคมี ผมบอกญาติไปตรง ๆ ว่าอยากจะทำเกษตรแบบพอเพียงตามทฤษฎีของในหลวงถึงแม้ว่าตอนนั้นผมแทบจะไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับทฤษฎีของท่านเลยด้วยซ้ำ แต่แกไม่เอาด้วยโดยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า

 

"ใช้ไม่ได้จริง"


 

ไม่ต่างอะไรกับอีกเสียงที่พยายามโน้มน้าวว่า "ถ้าไม่ฉีดยาแล้วแมลงจากสวนข้าง ๆ จะมารุมผลไม้ของเรา"

 

เนื่องจากผมอยู่ในสถานะที่พูดอะไรไม่ได้ ในวันนั้นหนทางสู่ความพอเพียงของผมจึงยังคงเป็นเส้นขนาน

 

อย่างไรก็ตามยังมีบางเรื่องที่ญาติและผมเห็นตรงกัน แกแนะนำให้ผมปลูกป่าบนพื้นที่ว่างที่เคยเป็นแปลงสละ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แกให้คำแนะนำอย่างละเอียดจากประสบการณ์จริงจากการปลูกไม้เนื้อแข็งที่นี่ ญาติบอกว่าไม้บางชนิด เช่น สัก เติบโตได้ไม่ดีเท่าใดนัก ในขณะที่ไม้จำพวก มะค่า พะยูง มะฮอกกานี และตะเคียน เติบโตได้มาก แกปลูกต้นตะเคียนไว้ค่อนข้างมากเพราะเชื่อว่ามันเป็นต้นไม้ในท้องถิ่นตามชื่ออำเภอ "วังตะเคียน"

 

ญาติบอกว่าต้นปีหน้าจะพาไปซื้อต้นกล้ามาเตรียมไว้เพื่อลงดินในช่วงหน้าฝน สิ่งที่ผมต้องทำในขณะนั้นคือการดูแลแปลงมังคุดให้พร้อมก่อนที่ฤดูแล้งจะมาถึง

 

งานแรกของผมคือการแต่งกิ่ง สิ่งที่ผมจะต้องทำคือตัดกิ่งกระโดงที่อยู่ใกล้ลำต้นซึ่งจะไม่โดนแสง (ซึ่งเขาว่ากันว่าจะไม่มีผล) กิ่งที่ซ้อนทับกับกิ่งอื่น (ไม้โดนแดด) และกิ่งทีเสียหายจากการเก็บเกี่ยวเมื่อฤดูกาลก่อน หากดูเผิน ๆ มันเป็นงานที่ไม่น่าจะยาก แต่งานง่าย ๆ เช่นนี้กลับเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกรมือใหม่เช่นผม ในเวลาหนึ่งวันผมสามารถแต่งกิ่งได้เพียง 2 – 3 แถว ซึ่งในแต่ละแถวจะมีมังคุดประมาณ 8 – 10 ต้น สาเหตุที่ช้าคงหนีไม่พ้นความลังเลในการเลือกกิ่งที่จะตัดทิ้ง และการเดินหลงทางในสวนมังคุดที่มันดูเหมือนกันไปหมดทุกต้น ญาติให้ผมแต่งกิ่งด้วยกรรไกรอลูมิเนียมเพราะจะเกิดความผิดพลาดได้น้อยกว่าการใช้มีดพร้า แต่ข้อเสียคือวิธีนี้จะเมื่อยมากและช้ากว่าการใช้มีดเป็นอย่างมาก

 

ผมสนุกกับงานแม้ว่าจะเหนื่อยและต้องทำงานกลางแดดกลางฝน แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบเลยและเกือบจะทำให้ผมถอดใจกลับบ้านก็คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "บางแก้ว" สัตว์พวกนี้ประกอบด้วย ไอ้ชิ (จ่าฝูง) อีเป๊ปซี่ (เมียไอ้ชิ) และไอ้โค้ก (ลูกของไอ้หมาสองตัวนั่น) ก่อนหน้านี้มีไอ้แฟนต้า ซึ่งดุมาก กัดขาโต๊ะไม้จนเกือบขาดจนญาติทนไม่ไหวเลยต้องเอาไปคืนเจ้าของเดิม นอกจากหมาบางแก้วแล้วญาติยังมีหมา โกลเดนรีทรีฟเวอร์ ตัวเมีย ๑ ตัว (เจ้าลัคกี้) และลูกผสมของเจ้าลักกี้ กับ ไอ้ชิ อีก ๑ ตัวชื่อ เจ้าหมี ซึ่งเป็นหมาตัวเมียสีดำ ที่บ้านยังมีหมาแจ็ครัสเซลตัวเมียอีกหนึ่งตัวชื่อว่า อีกุ๊ก (เพี้ยนมาจากคุกกี้) หมากลุ่มหลังนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาอะไร

 

ทุกเช้าทันทีที่ผมแง้มประตูห้องหมาบางแก้วทั้งสามตัวก็จะแยกเขี้ยวแผดเสียงลั่นพร้อมพุ่งทะยานมาใส่ผม การออกจากห้องจึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เมื่อออกมาได้แล้วผมต้องเดินไปอีกพอสมควรให้พ้นระยะบ้านเพื่อให้หมาพวกนี้เลิกมารังควาญ แน่นอนว่าการกลับเข้าห้องก็เป็นเรื่องยากไม่แพ้กัน และเมื่อเข้ามาแล้วพวกมันก็ยังพยายามจะพังประตูห้องเข้ามา โชคดีที่ "บ้าน" หลังนี้สร้างด้วยอิฐและปูนไอ้หมาสามตัวจึงพังเข้ามาไม่ได้ แต่กว่าพวกมันจะสงบก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่ ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้นเพราะทันทีที่โทรศัพท์ของผมดังขึ้นพวกมันก็จะมารุมกันถล่มประตูห้องผมอีกครั้ง

 

แม้ว่าสวนจะใหญ่เพียงไรแต่การที่ผมไม่สามารถเดินไปไหนได้อย่างอิสระมันก็ทำให้สวนแห่งนี้ไม่ต่างอะไรไปจากคุกสักเท่าใดนัก อิสรภาพของผมถูกจำกัดไว้ตามอาณาเขตที่หมาเยี่ยวไว้จนผมถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า "กูมาทำเชี่ยอะไรที่นี่?"

 

*************************

 

การใช้เวลาในแปลงมังคุดในแต่ละวันทำให้ผมมีโอกาสสังเกตลักษณะภายนอกของต้นมังคุดอย่างเต็มที่ มังคุดบางส่วนกำลังผลัดใบในขณะที่บางส่วนยังคงเป็นใบแก่

 

"มังคุดทั้งแปลงปลูกพร้อมกัน และโตอยู่ในภาพแวดล้อมเดียวกัน ได้น้ำได้ปุ๋ยเท่ากัน แต่ผลัดใบไม่เคยพร้อมกัน และออกผลก็ไม่เท่ากัน" ผมฉุกคิดถึงคำพูดของญาติ "แต่ถ้าออกพร้อมกันหมดเราก็จะแย่เหมือนกันเพราะเราจะเก็บไม่ทัน"

 

ยามว่างผมจับจอบขุดดินเพื่อทำแปลงผักเล็ก ๆ ข้างบ้านพัก แต่ไม่ทันจะทำเสร็จญาติให้พรว่า "ไม่มีทางรอด...ถ้าไม่ฉีดยา" แล้วมันก็ไม่รอดจริง ๆ และหลังจากนั้นผมก็ยุ่งมากจนไม่มีเวลาจะกลับมาปลูกผักให้เป็นเรื่องเป็นราวจึงกลายเป็นว่าสิ่งที่ผมตั้งใจจะมาทำที่สุดกลายเป็นสิ่งแรกที่เลือนหายไปจากใจผม


 

ในช่วงที่ผมกำลังแต่งกิ่งมังคุดก็มีข่าวน้ำท่วมภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ผมเริ่มกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านอีกครั้งเหมือนปี ๒๕๓๘ หรือไม่ จนกระทั่งในวันที่บรรหารฟันธงผ่านช่อง ๓ ว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ผมกลับบ้านทันทีโดยไม่ต้องคิด!

 

ช่วงเตรียมตัวรับน้ำท่วมที่กรุงเทพผมใช้เวลาว่างหาข้อมูลรถกระบะเพื่อเอามาใช้งานแทนรถยนต์คันปัจจุบัน
(อ่านเรื่องเต็มได้จาก กว่าจะเป็นรถคันแรก มีทั้งหมด ๕ ภาค http://bloodybrother.blogspot.com/2012/02/blog-post_18.html)


นอกจากนั้นผมก็มองหาบ้านสำเร็จรูปไปพลาง ๆ ผมไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าบ้านเล็ก ๆ สักหลังที่จะทำให้ผมได้อยู่เงียบ ๆ ไกล ๆ จากไอ้หมาบ้าพวกนั้น เดิมทีผมตั้งใจจะสร้างบ้านดินแต่สภาพอากาศที่นี่ทำให้ผมลังเล เนื่องจากที่สวนมีฝนตกหนักปีละร่วม 8 เดือน ความชื้นในดินจะทำให้มดและแมลงหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน ขนาดบ้านพักปัจจุบันสร้างด้วยปูนมดและปลวกยังมุดเข้ามาสร้างความเสียหายอยู่เสมอถ้าเป็นบ้านดินคงจะเอาไม่อยู่แน่ ๆ

 

แต่ทันทีที่นายกปูประกาศว่า "เอาอยู่" น้ำก็ท่วมบ้านผมแค่ระดับไหล่เท่านั้น ครอบครัวของผมจึงต้องอพยพไปอยู่ที่บ้านอีกหลังของเพื่อนบ้านที่ฉะเชิงเทรา เราอยู่ที่นั่นเกือบอาทิตย์แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่คอนโดของลุงที่พัทยา ส่วนผมกลับมาที่สวนอีกครั้งเพราะสถานการณ์น้ำท่วมมันเลวร้ายเกินกว่าจะทำอะไรได้แล้ว



 

ระหว่างนี้ผมได้เรียนรู้งานใหม่ ๆ เช่นการขับรถแทรกเตอร์ และการรดน้ำด้วยเครื่องยนต์ดีเซล



 

ราว ๆ 20 ปีก่อน ญาติได้วางระบบน้ำครอบคลุมพื้นที่ในสวนเกือบทั้งหมด (ประมาณ 200 ไร่) น้ำในสวนมาจากสระสองแห่งที่ขุดไว้ด้านหน้าและด้านหลังของสวน แต่ละสระจะมีเครื่องสูบน้ำดีเซลติดตั้งไว้ซึ่งจะส่งน้ำไปยังท่อหลักขนาด 4 นิ้ว แล้วต่อเชื่อมไปตามส่วนต่าง ๆ ของสวนโดยใช้ประตูน้ำควบคุมการจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ขนาดท่อหลักจะลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือสองนิ้วเพื่อเพิ่มแรงดันปลายท่อ จากท่อสองนิ้วก็จะแยกเป็นท่อขนาด 6 หุน ประมาณ 50 – 60 ท่อ ซึ่งจะต่อกับหัวสปริงเกอร์อีกทีหนึ่ง

 

ค่าใช้จ่ายในการวางท่อทั้งสวนในสมัยนั้นตกราว ๆ 7 – 8 แสนบาท (สมัยนี้คงไม่ต้องพูดถึง) แน่นอนว่าแปลงมังคุดของผมย่อมได้รับอานิสงส์ด้วย เรื่องนี้จึงนับเป็นบุญของผมอย่างยิ่งที่ไม่ต้องมาเสียเงินลงทุนเรื่องระบบน้ำ

 

อย่างไรก็ตามชีวิตเกษตรกรของผมมันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียขนาดนั้นเพราะเครื่องสูบน้ำดีเซลก็มีข้อเสียมากพอสมควรโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา เช่น สายพาน ไส้กรอง แบตเตอรี่ น้ำมันเครื่อง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานซึ่งก็คือค่าน้ำมันที่ผูกขาดโดย "กระทรวงปตท" ซึ่งค่าใช้จ่ายอย่างหลังนี้ถือเป็นต้นทุนที่สูงมากในแต่ละปี

 

ผมอยากเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กอย่างเดียวเครื่องก็ทำงานแล้ว แต่ปัญหาในสวนผมในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตก็คือไฟฟ้าในสวนยังเป็นไฟแบบเฟสเดียวผมจึงไม่สามารถนำมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่มาใช้งานได้

 

*************************

 

ผมกลับมาที่กรุงเทพอีกครั้งเมื่อระดับน้ำที่บ้านเหลือเพียงคืบ ด้วยความที่น้ำท่วมบ้านนานร่วมเดือนผมจึงต้องทิ้งสวนอีกพักใหญ่ ๆ เพื่อทำให้บ้านอยู่ในสภาพที่คนอยู่ได้ ญาติบอกว่าไม่เป็นไรเพราะงานที่สวนตอนนี้ยังไม่ค่อยมีอะไรมาก แกสามารถจัดการคนเดียวได้ แต่ถ้าเป็นช่วงรดน้ำห้ามทิ้งสวนเด็ดขาด


แม้ว่าน้ำจะลดลงมากแล้วแต่ร้านค้าก็ยังไม่กลับมาขายตามเดิม ผมจึงยังคงต้องกินมาม่าต่อไป นี่เองที่สะท้อนถึงความบอบบางของความมั่นคงทางอาหารในสังคมคอนกรีต ที่นี่มีทุกอย่างแต่ทุกอย่างล้วนมาจากที่อื่น ปัจจัย ๔ ทั้งหมดไม่ได้ผลิตขึ้นที่นี่ ความมั่นคงในเมืองใหญ่จึงเป็นเพียงภาพลวงตาที่คนนับล้านยังมองไม่เห็น
.
.
.
ผมคิดว่าผมมาถูกทางแล้ว
.
.
.
เมื่อขัดบ้านเสร็จผมจึงกลับมาที่สวนในเดือนธันวาคม ช่วงนี้อากาศที่สวนดีมากเพราะฝนหยุดตกมาร่วม ๒ เดือนแล้ว กิจกรรมหลักในเดือนนี้ คือ การพ่นยาฆ่าหญ้า การคราดโคนมังคุด และพ่นยาฆ่าแมลงพร้อมปุ๋ยเร่งดอก ญาติบอกว่าการฆ่าหญ้าในช่วงต้นฤดูแล้งจะได้ผลดีเนื่องจากความแห้งแล้งจะทำให้หญ้าฟื้นตัวได้ช้า ด้วยความที่สวนมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับแรงงานที่เราไม่ค่อยจะมีแกจึงใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชซึ่งก็คือกรัมม็อกโซน (พาราควอท) ในการพ่นยาหนึ่งครั้งจะใช้ทั้งหมด ๓ แกลลอน


คิดเป็นเงิน ๕๙๐ x ๓ = ๑,๗๗๐ บาท
นอกจากนั้นยังต้องจ้างคนงานมาพ่นยา ซึ่งคิดเป็นเงิน ๘๐๐ x ๓ (ถัง) = ๒,๔๐๐ บาท

 

ญาติให้คนงานคราดใบไม้และกิ่งไม้ออกจากใต้โคนมังคุดให้หมดจนดินแห้งเพื่อกระตุ้นให้มังคุดติดดอก เมื่อคราดโคนเสร็จแกจะให้ปุ๋ยทางใบพร้อมยาฆ่าแมลงซึ่งประกอบด้วย

  • แจคเก็ต (อะบาเม็กติน) – ๓ ลิตร x ๔๘๐ = ๑,๔๔๐ บาท
  • ปุ๋ยเร่งดอก ๑๐-๕๒-๑๗ – ๓ ถุง x ๕๒๐ = ๑,๕๖๐ บาท
  • สังกะสี – ๓ ถุง x ๔๐๐ = ๑,๒๐๐ บาท

 

แน่นอนว่ามันย่อมมีค่าจ้างพ่นยาอีก ๔,๐๐๐ บาท (๕ ถัง)

 

เมื่อพ่นยา (พิษ) เสร็จเรียบร้อยจึงทำการให้น้ำเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงเริ่มการอดน้ำมังคุดเพื่อกระตุ้นการติดดอก

 

"การอดน้ำ / Water stress" คือ การทำให้ต้นไม้ขาดน้ำระยะหนึ่งจนต้นไม้อยู่ในสภาวะ "เครียด" ซึ่งจะสังเกตได้จากใบและปลายกิ่งที่เหี่ยว เมื่อเกิดความเครียดต้นไม้ก็จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แน่นอนว่าต้นมังคุดคงมิอาจช่วยตัวเองด้วยการเดินไปเปิดเครื่องสูบน้ำ ดังนั้นความอยู่รอดจึงไม่ใช่ความอยู่รอดของตัวเองแต่คือความอยู่รอดของสายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้มังคุดจึงใช้พลังงานที่เหลืออยู่ไปผลิดอกออกผลเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์ 
 
เมื่อมังคุดเหี่ยวจนถึงระดับที่พอใจ (แต่มังคุดคงไม่พอใจด้วย) ชาวสวนก็จะรดน้ำในปริมาณมากกว่าปรกติ บางสวนอาจรดน้ำแบบนี้ติดต่อกันสองวัน หลังจากนั้นก็จะหยุดให้น้ำราว ๆ หนึ่งอาทิตย์เพื่อดูการตอบสนองต่อการให้น้ำ หากมังคุดเริ่มออกดอกก็จะเริ่มรดน้ำตามปรกติ หากยังไม่ออกดอกก็อาจจะกลับมาอดน้ำอีกครั้ง

 
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอดน้ำคืออายุของใบคู่สุดท้ายที่ปลายกิ่ง (ตา-ยอด) หากใบมีอายุมากหรือน้อยเกินไปจะไม่สามารถผลิดอกได้ ใบที่จะผลิดอกได้ควรมีอายุประมาณ 9 – 12 สัปดาห์ หากไม่ทันได้สังเกตว่ามังคุดเริ่มผลิใบเมื่อไร ให้รอจนใบพ้นระยะเพสลาดไปแล้ว คือใบเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม

 
อย่างไรก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งในการกำหนดช่วงอดน้ำคือมังคุดแต่ละต้นผลัดใบไม่พร้อมกัน หลายสวนจึงอดน้ำตามอายุของใบส่วนใหญ่ในขณะที่บางสวนใช้ไทโอยูเรียพ่นใบมังคุดในหน้าฝนเพื่อให้ผลิใบพร้อมกันหมด วิธีหลังดูเหมือนจะดีแต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการที่มังคุดผลัดใบพร้อมกันนั้นก็ส่งผลให้มังคุดผลิดอกและสุกพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้การเก็บเกี่ยวเป็นงานหนักอย่างยิ่ง การที่มังคุดสุกพร้อมกันเป็นจำนวนมากย่อมทำให้ราคาผลผลิตในตลาดรูดลงในพริบตา นอกจากนั้นหากมีฝนตกในช่วงการอดน้ำอาจทำให้มังคุดทั้งหมดแตกใบอ่อนทำให้การผลิดอกช้าลงส่งผลให้มังคุดไปสุกในช่วงท้ายฤดูซึ่งราคาผลผลิตจะต่ำมาก

 



ผมหยุดให้น้ำมังคุดอยู่ประมาณ ๗ วัน แล้วจึงกลับมารดน้ำอีกครั้ง การรดน้ำที่สวนใช้ระบบ ๒ วันเว้น ๑ วัน คือ วันที่หนึ่งจะรดน้ำประตู (บริเวณ) ที่ ๑ – ๔ เป็นเวลา ๖๐ นาทีต่อประตู จากการทดสอบต้นมังคุดจะได้น้ำ ๒๐๐ ลิตร/๖๐ นาที ส่วนวันที่สองจะรดน้ำที่ประตู ๕ – ๗ (๖๐ นาที/ประตูเช่นกัน) ส่วนวันที่สามจะไม่มีการรดน้ำ ญาติให้เหตุผลว่าเครื่องสูบน้ำมีอายุแล้วหากรดน้ำทีเดียว ๗ ประตูเครื่องอาจจะไม่ไหว นอกจากนั้นเราก็จะเหนื่อยเองด้วย ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามันเหนื่อย

 

หลายคนอาจสงสัยว่าการรดน้ำด้วยสปริงเกอร์นั้นเหนื่อยอย่างไร เพราะแค่เดินไปเปิดประตูน้ำแล้วติดเครื่องสูบน้ำก็ไม่น่าจะเหนื่อยสักเท่าไร แต่ในความจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น (โคตรเยอะ) เพราะเครื่องสูบน้ำไม่ได้อยู่ใกล้บ้านกว่าจะเดินไปถึงก็กินเวลาพักหนึ่ง กว่าจะติดเครื่องได้ก็ต้องใช้เวลา หลังจากนั้นผมจะต้องเดินไปที่แปลงเพื่อตรวจสอบหัวสปริงเกอร์จ่ายน้ำทุกอัน! เนื่องจากมดเข้ามาทำรังในท่ออยู่เสมอ เมื่อเดินเครื่องสูบน้ำมดที่อยู่ในนั้นก็จะถูกดันมาติดที่ปลายท่อทำให้น้ำไม่ไหล นอกจากนั้นหัวสปริงเกอร์ผ่านการใช้งานมาแล้วหลายปีจึงพร้อมจะง่อยได้ตลอดเวลา อีกทั้งน้ำยาประสานท่อหลายจุดก็เสื่อมสภาพจึงทำให้ท่อน้ำหลุดได้ง่าย ๆ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผมจะต้องเดินดูสปริงเกอร์ทั้งหมด ๔๕๗ หัวในพื้นที่ ๑๐ ไร่ อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผมเปลี่ยนสปริงเกอร์ง่อย ๆ ไปหมดแล้วผมก็เริ่มชำนาญขึ้นและสามารถเดินตรวจได้ทีละหลาย ๆ แถวพร้อมกัน งานนี้จึงเบาลงไปมาก

 

นอกจากการรดน้ำญาติสอนให้ผมเดินสำรวจอัตราการติดดอกของมังคุดเพื่อประเมินว่าการอดน้ำที่ผ่านมานั้นได้ผลหรือไม่ วิธีการคือให้ดูที่ข้อต่อระหว่างใบคู่สุดท้าย (ตา-ยอด) ของกิ่งว่ามีใบแดง ๆ แทงออกมาหรือไม่ ความยากของงานนี้คือบางครั้งใบที่แทงออกมาระหว่างตายอดนั้นไม่ใช่ดอกแต่เป็นใบอ่อนที่เกิดใหม่ ทั้งสองอย่างมีความแตกต่างน้อยมาก และแน่นอนว่ามือใหม่อย่างผมดูแทบไม่ออก

 

ในเดือนมกราคมญาติตัดสินใจอดน้ำอีกครั้งเนื่องจากมังคุดที่ติดดอกมีเพียง ๑๒% ของมังคุดทั้งหมด คราวนี้แกบอกว่าให้ลองอดแบบไม่มีกำหนด เวลาผ่านไปหลายวันปลายกิ่งและมังคุดก็เหี่ยวลงเรื่อย ๆ การอดน้ำคราวนี้ดูจะดุเดือดกว่าคราวก่อนเรื่องจากระดับน้ำในดินของเดือนมกราคมนั้นน้อยกว่าเดือนธันวาคมอย่างไม่ต้องสงสัย ผมถือโอกาสเปลี่ยนสายพานเครื่องสูบน้ำพร้อมนำแบตเตอรี่มาชาร์จในช่วงนี้ หลังจากนั้น ๘ วัน แกบอกให้ผมรดน้ำอีกครั้ง หลังจากนั้น ๒ วัน ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก และก็ตกติดต่อกันเกือบทุกวันเหมือนเป็นสัญญาณจากธรรมชาติว่า "เลิกทรมานกูได้แล้ว"

 

ผมดีใจมากเพราะต้นไม้จะได้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อีกทั้งฝนก็ช่วยประหยัดน้ำมันและค่าแรงได้มาก และที่สำคัญที่สุดคือฝนตกลงมาในจังหวะที่ดีมากเพราะถ้าฝนตกเร็วกว่านี้สักสามสี่วันการอดน้ำคราวนี้คงจะล้มเหลวเป็นแน่

 

ฝนหยุดตกในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมจึงกลับมารดน้ำอีกครั้ง ช่วงนี้ดอกมังคุดแทงออกมามากพอสมควร แต่ด้วยความที่ฝนตกลงมาเกือบทุกวันในเดือนมกราคมจึงทำให้มังคุดผลิใบอ่อนออกมาไม่น้อยเช่นกัน ญาติบอกว่าปีนี้มังคุดผลิดอกน้อยกว่าปีก่อน แกสันนิษฐานว่ามังคุดปีก่อนออกลูกดกมากปีนี้จึงอาจเป็นปีพัก (สะสมอาหารและพลังงานไม่ทันจึงให้ผลผลิตลดลง) อย่างไรก็ตามญาติอีกคนบอกว่าแบบนี้ดีลูกจะได้ใหญ่ ๆ ขายได้ราคา

 

วิธีจำแนกดอกกับใบอ่อน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้งดอกและใบจะผลิออกมาจากที่เดียวกันคือ "ตายอด" ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสองใบสุดท้ายที่ปลายกิ่ง ทั้งดอกและใบในระยะแรกจะดูคล้ายกันมากไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือรูปทรง ชาวสวนจึงต้องให้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อให้สามารถวางแผนการให้น้ำได้อย่างเหมาะสม

 

การจำแนกจะทำได้ง่ายขึ้นหลังการผลิ ดอก/ใบ ราว ๆ ๑ สัปดาห์ อาจน้อยกว่านั้นหากมีความชำนาญ จุดสังเกตที่สำคัญคือ ใบจะมีลักษณะค่อนข้างแบน ใบจะแทงออกมาเรื่อย ๆ แล้วแยกออกจากกัน ในขณะที่ดอกจะแทงใบเล็ก ๆ ปลายแหลมเรียว มีสีแดงที่ปลายนำร่องออกมาก่อน จากนั้นจะมีช่อกลม ๆ สีเขียวอ่อนแทงตามมา หลังจากนั้นต้นไม้จะสลัดใบนำร่องเล็ก ๆ ออก เหลือเพียงช่อกลม ๆ ซึ่งช่อนี้เองที่จะพัฒนามาเป็นดอก

  


 



ด้วยความที่ดินยังมีความชื้นจากฝนในเดือนมกราคมญาติจึงให้บอกให้ลดเวลาการให้น้ำลงเพื่อให้ประหยัดต้นทุน แกสอนให้ผมสังเกตความเหี่ยวของก้านใบมังคุดซึ่งจะบ่งบอกถึงความชื้นในต้น ญาติบอกว่าเป็นไปได้ยากที่จะไปดูมังคุดก้านใบมังคุดทุกต้น แกจึงให้ดูที่มังคุดแถวแรกต้นแรกเพียงต้นเดียวเพราะต้นนี้อยู่แถวบนสุดซึ่งจะได้น้ำน้อยกว่าแถวอื่นเวลารดน้ำ เมื่อฝนตกน้ำก็จะไหลลงสู่ด้านล่างของแปลงระดับน้ำในดินของแถวบนก็จะน้อยกว่าแถวที่อยู่ด้านล่าง ดังนั้นมังคุดแถวบนจึงแสดงอาการขาดน้ำก่อนแถวอื่นเสมอ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ผมไม่มีประสบการณ์และไม่อยากให้แกมาบ่นผมทีหลังว่าผมรดน้ำน้อยไป ผมจึงถามแกทุกครั้งว่าจะให้รดน้ำครั้งละกี่นาที

 

กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ญาตินำสับปะรดสีและไม้ประดับอื่น ๆ ในสวนไปออกร้านที่งานรักษ์เหลืองจันท์ งานนี้เป็นงานไม้ดอกและไม้ประดับขนาดใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี ชื่องานมาจากดอกเหลืองจันทบูรอันเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนี้ ยามว่างจากการรดน้ำผมแกจะช่วยขนไม้ประดับจากสวนไปขาย บางครั้งการขนต้นไม้อาจทำให้ผมต้องเปลี่ยนเวลารดน้ำจากเช้ามาเป็นบ่ายซึ่งผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหา แต่ดูเหมือนว่าญาติผู้ชายจะไม่ชอบสักเท่าไร

 

วันหนึ่งผมถูกโวยวายใหญ่โตว่ารถน้ำยังไงมังคุดถึงเหี่ยวอย่างนี้ แกบอกว่าเดินไปดูมังคุดต้นแรกมาแล้วเห็นว่ามันเฉามาก รดน้ำแบบนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าน้ำไม่พอลูกมังคุดจะร่วง ลูกที่ยังอยู่ต่อไปจะก้นจีบ (แหลม) ทำให้ขายไม่ได้ราคา ญาติโวยวายเสียงดังอยู่นานผมจึงตอบกลับไปบ้างว่า

 

"...ผมคิดไว้แล้ววันหนึ่งจะต้องมีปัญหาแบบนี้ ผมก็เลยถามแกทุกครั้งว่าจะให้รดน้ำกี่นาทีจะได้ไม่ต้องมาโทษกันทีหลัง ... แต่แกก็ยังโทษคนอื่นอยู่ดี"

 

ผิดคาด มันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย

 

"...แม่โว้ย...ก็บอกให้ดูต้นแรก เราใช้ต้นนี้เป็นเกณฑ์ถ้ามันเหี่ยวก็ใช้ไม่ได้แล้ว..."

 

ผมเริ่มตงิด ๆ กับแนวทางของแก ผมว่ามันไม่เข้าท่าอย่างยิ่งหากจะใช้ต้นไม้ต้นนี้เพียงต้นเดียวเพื่อแสดงลักษณะของต้นไม้ทั้งสวน จริงอยู่ที่ต้นไม้ต้นนี้อยู่บนยอดเนินจึงเฉาก่อนเพื่อน แต่หากต้นนี้เฉาก็ไม่ได้หมายความว่าอีก ๔๕๖ ต้นจะเหี่ยวด้วย จากการเดินรดน้ำอยู่คนเดียวแทบทุกวันผมสังเกตว่ามังคุดต้นนี้จะเฉาได้ง่ายกว่าต้นอื่นมาก มากจนไม่ควรจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ ผมจึงไม่กระวนกระวายเท่าไรที่มังคุดต้นนี้จะดูเฉาในขณะที่ต้นที่เหลือดูสมบูรณ์ดี

การทำสวนแบบอุตสาหกรรมที่พึ่งสารเคมีสารพัดก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากจะทำอยู่แล้วและพอมาเจอสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ผิดไปหมด ก็ทำให้ผมกลับมาตั้งคำถามอย่างจริงจังอีกครั้งว่า "กูมาทำเชี่ยอะไรที่นี่"

โปรดติดตามต่อภาค 2

3 comments:

มดมังคุด said...

อ่านอยู่เพลินๆก็จบบทที่ 1ซะแล้ว ดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ มีเหตุการณ์ตัดมาตัดไปในบางช่วง ก็ต้องพยายามตามอ่านให้ดี (มโนว่าเหมือนตามเกาะขากางเกงผู้เล่าให้ทัน)
ได้ความรู้ด้วย บันเทิงด้วย มีศัพท์เทคนิคบ้าง ช่างกลบ้าง เอ้ย!! หมายถึงมีศัพท์ยากบ้้าง แต่ก็เข้าใจได้ ดูแล้วในบทแรกนี้ ทำให้รู้สึกว่าการจะเป็นชาวสวนนั้นมันไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยทั้งแรงงาน ธรรมชาติ และ สารเคมี ซึ่งดูแล้วในตอนต้นนี้สารเคมีน่าจะมีสัดส่วน/อิทธิพลในเชิงความเชื่อที่จะให้ผลดีต่อต้นไม้มากกว่าสิ่วอื่น

แต่ตอนต่อๆไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรออ่านกัน รอๆๆๆๆ :-)

มดมั said...

อ่านอยู่เพลินๆก็จบบทที่ 1ซะแล้ว ดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ มีเหตุการณ์ตัดมาตัดไปในบางช่วง ก็ต้องพยายามตามอ่านให้ดี (มโนว่าเหมือนตามเกาะขากางเกงผู้เล่าให้ทัน)
ได้ความรู้ด้วย บันเทิงด้วย มีศัพท์เทคนิคบ้าง ช่างกลบ้าง เอ้ย!! หมายถึงมีศัพท์ยากบ้้าง แต่ก็เข้าใจได้ ดูแล้วในบทแรกนี้ ทำให้รู้สึกว่าการจะเป็นชาวสวนนั้นมันไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยทั้งแรงงาน ธรรมชาติ และ สารเคมี ซึ่งดูแล้วในตอนต้นนี้สารเคมีน่าจะมีสัดส่วน/อิทธิพลในเชิงความเชื่อที่จะให้ผลดีต่อต้นไม้มากกว่าสิ่วอื่น

แต่ตอนต่อๆไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรออ่านกัน รอๆๆๆๆ :-)

มดมังคุด said...

อ่านอยู่เพลินๆก็จบบทที่ 1ซะแล้ว ดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ มีเหตุการณ์ตัดมาตัดไปในบางช่วง ก็ต้องพยายามตามอ่านให้ดี (มโนว่าเหมือนตามเกาะขากางเกงผู้เล่าให้ทัน)
ได้ความรู้ด้วย บันเทิงด้วย มีศัพท์เทคนิคบ้าง ช่างกลบ้าง เอ้ย!! หมายถึงมีศัพท์ยากบ้้าง แต่ก็เข้าใจได้ ดูแล้วในบทแรกนี้ ทำให้รู้สึกว่าการจะเป็นชาวสวนนั้นมันไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยทั้งแรงงาน ธรรมชาติ และ สารเคมี ซึ่งดูแล้วในตอนต้นนี้สารเคมีน่าจะมีสัดส่วน/อิทธิพลในเชิงความเชื่อที่จะให้ผลดีต่อต้นไม้มากกว่าสิ่วอื่น

แต่ตอนต่อๆไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรออ่านกัน รอๆๆๆๆ :-)