เส้นทางสู่ความพอเพียง - EP2 บนเส้นทางที่เลือกเอง -
ตอนที่ 2 - บนถนนที่ไม่เห็นปลายทาง
กลางฤดูฝนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรได้มาบรรยายที่วัดในชุมชนเกี่ยวกับการดูแลผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว
สาระสำคัญของการบรรยายคือ การแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การอดน้ำ การให้น้ำ
และการตรวจดิน หลักการคือต้นไม่หลังฤดูการเก็บเกี่ยวจะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมจากการเก็บเกี่ยว
ซึ่งประกอบด้วยการปีนขึ้นไปเหยียบกิ่ง และการยืนปละเดินย่ำที่โคนต้นเป็นเวลานานระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยว
กิ่งที่หักควรตัดออกเพราะจะให้ผลผลิตน้อย เช่นเดียวกับกิ่งกระโดงที่ไม่ได้รับแสงเพราะจะไม่ให้ผลผลิตหรือให้ผลผลิตน้อยเช่นกัน
หน้าดินที่ได้รับความเสียหายก็ควรจะใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงราก
เจ้าหน้าที่แนะนำให้ใส่ปุ๋ยซึ่งมีหลักคิดคือ ถ้าใส่ปุ๋ยเร็วไปมังคุดก็จะผลิใบเร็ว
นั่นเหมือนจะดีแต่ก็ไม่ดีเสมอไป
เพราะถ้ามังคุดผลิใบแล้วแต่ฝนยังไม่หยุดมังคุดก็มีโอกาสที่จะผลัดใบอีกครั้งในช่วงปลายฤดูฝนซึ่งจะทำให้ออกดอกช้ากว่าต้นที่ผลัดใบในจังหวะที่พอดี
หากทำให้มังคุดออกเร็วได้มากเท่าไรก็จะมีโอกาสขายในราคาที่สูงมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นเกษตรกรจึงอัดปุ๋ยกันอย่างหนักในช่วงเวลานี้เช่นกัน ส่วนเรื่องการอดน้ำและให้น้ำนั้นขอไม่พูดถึงเพราะเหมือนกับที่ได้อธิบายไปแล้วใน
EP1 เรื่องสุดท้ายคือการตรวจดินซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนำว่าควรเก็บตัวอย่างดินไปตรวจเป็นประจำเพื่อให้รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของดินในสวนนั้นเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถปรับปรุงดินได้อย่างเหมาะสม
วิธีการเก็บตัวอย่างคือให้ปาดใบไม้ที่หน้าดินออกก่อนแล้วขุดลงไปหนึ่งหน้าจอบ
จากนั้นให้ปาดดินที่หน้าจอบใส่ถุงเก็บตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากทั่วแปลง
นำดินที่เก็บได้มารวมกันผึ่งลมซักสองสามวันแล้วส่งมาตรวจที่หน่วยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในฤดูการที่จะถึงนี้ การใส่ปุ๋ยจึงเป็นงานแรกบนถนนสายใหม่
แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยลงไปทันทีเพราะต้องตัดหญ้าให้เสร็จก่อน ผมเลือกควบคุมวัชพืชด้วยการตัดหญ้าแทนการพ่นยาแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลามากกว่าเพราะไม่ต้องการทำร้ายแผ่นดินผืนนี้อีกต่อไปแล้ว
แต่ที่ตลกก็คือคนที่มาตัดหญ้าก็เป็นทีมงานเดียวกันกับคนที่เคยมาพ่นยาในสวน หรือทีมที่เก็บมะละกอด้วยตีน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน EP1) ผมเองก็ไม่มีตัวเลือกอื่นเพราะแถวนั้นผมก็ไม่รู้จักใครแล้ว
และญาติก็ยืนกรานว่าผมตัดหญ้าเองไม่ได้
ค่าจ้างตัดหญ้าในสมัยนั้นจะคิดตามจำนวนครั้งที่เติมน้ำมันลงในถังของเครื่องตัดหญ้าสะพาย
โดยคิดถังละ ๑๒๐ บาท ของผมใช้ไป ๒๓ ถังจึงเสียเงินไป ๒,๗๖๐ บาท นอกจากนั้นยังมีค่าน้ำมันเบนซินและออโตลูปอีก
ซึ่งเจ้าของสวนจะต้องซื้อมาให้ คราวนั้นซื้อน้ำมันไป ๘๐๐ บาท
ส่วนออโตลูปมีอยู่แล้วเลยไม่ต้องซื้อ
(แปลงมังคุดหลังการตัดหญ้า)
ประมาณ 4-5 วันทีมงานก็ตัดหญ้าในแปลงเสร็จ
นอกจากหญ้าแล้วทีมงานยังแถมตัดหัวน้ำสปริงเกอร์ไปหลายหัว (แต่ไม่บอกกูซักคำ)
ทำให้ผมต้องเสียเวลาไปเดินตรวจทั้งแปลง เพราะถ้าไม่รีบซ่อม
มดจะเข้าไปทำรังทำให้เกิดปัญหาในการรดน้ำในฤดูการต่อไปได้ การตรวจงานทำให้ผมได้เห็นความมักง่ายอย่างอื่นอีก
เช่น ขยะสารพัดอย่างไม่ว่าจะเป็นถุงแกง กระป๋อง อาหาร ถึงพลาสติก ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง
ซองบุหรี่ ก้นบุหรี่ ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดเต็มสวน
ผมเซ็งมากแต่ยังคิดไม่ออกว่าจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร...
จบงานก็จ่ายเงิน ผมเดินเอาเงินสดไปให้หัวหน้าทีม
หนึ่งในทีมงานคีบบุหรี่ขึ้นมาดูดแล้วก็โยนซองบุหรี่ลงพื้นทันทีที่หัวหน้าทีมรับเงิน
“เย็ดเข้
ต่อหน้ากูยังทิ้ง!!!” ผมตะโกนด่าด้วยแววตา
ก่อนได้ข้อสรุปกับปัญหานี้ว่า
“ต่อไปนี้กูจะตัดหญ้าเอง!!!”
(ท่อน้ำที่ได้รับการซ่อมแซม)
ในที่สุดก็ได้เวลาการใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยในครั้งนี้จะใช้มูลสัตว์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี
แม้จังหวัดที่ผมอยู่จะไม่ใช่ภูมิภาคที่มีการเลี้ยงสัตว์ใหญ่และเป็ดไก่มากซักเท่าไร
แต่มูลสัตว์ก็เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก จะว่าไปร้านการเกษตรแถวนั้นก็มีแทบจะมีทุกขี้ที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นขี้วัว
ขี้ไก่ ขี้หมู ขี้ค้างคาว ครั้งนั้นผมเลือกใช้ขี้หมู (ถุงละ ๒๐ บาท)
ซึ่งถูกกว่าขี้วัวที่มีราคาถุงละ ๓๕ บาท (แต่ถุงใหญ่กว่า) ผมใช้เงินไปทั้งหมด ๒๐ x ๔๕๗ = ๙,๑๔๐
บาท ซึ่งแพงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งตกครั้งละ ๗,๒๐๐
บาท...ทำอินทรีย์ไม่ถูกกว่าเคมีเสมอไปนะจ๊ะ
(ร้านขายมูลสัตว์)
การใส่ปุ๋ยคอก
(โดยเฉพาะขี้หมู) น่าจะเป็นงานที่ทรมานที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมันเหม็นเอามาก
ๆ ผมให้ต้นไม้โดยตรงโดยไม่ทำการหมัก
ด้วยความที่ขี้หมูติดกันเป็นตังเมไม่ร่วนเหมือนปุ๋ยเคมีงานนี้จึงใช้เวลานานกว่าที่เคย
ความเหม็นของมันทำให้ผมปวดหัวอย่างบอกไม่ถูก
เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วชีวิตก็ยังไม่กลับสู่ความสงบสุขเพราะผมจะต้องทนกับแมลงวันที่มากับขี้หมูไปร่วมอาทิตย์
(หมายเหตุ:
ไม่ควรใส่มูลสัตว์โดยตรง ควรทำการหมักก่อน หรือ
อย่างน้อยก็วางทิ้งไว้เฉย ๆ จนหายร้อน [age] เพื่อลดการแพร่ของเชื้อโรค
และให้มูลสัตว์อยู่ในสภาพที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ง่าย)
“เชี่ย...ทั้งเหนื่อยทั้งเหม็นขนาดนี้
มิน่าคนหันมาใช้ปุ๋ยเม็ดกันหมด” ผมสบถออกมาอย่างสุภาพโดยมีผมยืนรับฟังอย่างเข้าใจ
**********************************************
ช่วงนี้หมาในสวนคลอดลูกกันหลายครอก
เมื่อถึงเวลาหมาพวกนี้ (free range dog) จะไปหาซอกหลืบซักมุมในสวนตามสัญชาติญาณเพื่อคลอดลูกในที่ที่มันคิดว่าปลอดภัย
แต่ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนในสวนญาติผมก็จะหาเจอทุกครั้ง ผมรู้สึกทึ่งในความเพียรของแกในการตามหาหมาที่ซ่อนอยู่ซักมุมในสวนขนาด
๒๐๐ ไร่ของแก เมื่อพบแล้วแกก็จะเดินถืออาหารไปให้ทุกวัน
หมาที่คลอดชุดแรกคือแจ็ครัสเซล
เมื่อหย่านมแล้วญาติขายไปหนึ่งตัว ให้คนรู้จักไปหนึ่งตัว ที่เหลืออีก ๒
ตัวญาติของผมเก็บไว้เอง ผมเห็นแล้วก็ไม่อยากเลี้ยงหมาซักเท่าไร
เพราะไม่อยากพรากแม่พรากลูกเมื่อเวลาแบบนี้มาถึง หลังจากนั้นไม่นานหมาลูกผสม
(บางแก้ว - โกลเดนท์รีทรีฟเวอร์) ที่ไปผสมกับบางแก้วอีกตัวก็คลอดลูก ญาติแนะนำแกมบังคับให้ผมเลี้ยงไว้หนึ่งตัวก่อนที่จะแจกส่วนที่เหลือจนหมด
“...เราอยู่ข้างในสวนคนเดียว
ไม่มีหมาใหญ่ไม่ได้...”
ผมจำไม่ได้ว่าค่าอาหารหมาของญาตินั้นตกปีละเท่าไร
แต่ที่แน่ใจคือมันเป็นเงินหลักหมื่นแน่นอน
นอกจากนั้นมันยังทำให้ญาติผมไม่ยอมออกไปนอนค้างนอกสวน หรือกลับสวนในเวลาค่ำ
เพราะจะต้องรีบกลับมาให้อาหารหมา
“ติดคุกชัด ๆ”
หมาไม่ได้กล่าว แต่ผมรู้สึกอย่างงั้น “กำไรจากสวนปีละสามหมื่นเจอค่าอาหารหมาไปปีละหมื่นแล้วจะให้ผมแดกกินอะไร”
ผมก็อึกอัก ๆ
ก่อนที่จะไปเลือกลูกหมาตัวผู้มาตัวนึง จะได้ไม่ต้องกังวลว่ามันจะท้อง
มันเป็นหมาลูกผสมสีขาว ขนยาวปุกปุย มีปานน้ำตาล ๒ โทนที่ข้างลำตัว แววตาดูเศร้า ๆ ผมตั้งชื่อมันตามลักษณะภายนอกว่า
“เจ้าฟู”
ช่วงนั้นญาติต้องไปผ่าตัดที่กรุงเทพฯ
จึงต้องพักฟื้นอยู่ที่นั่นพักใหญ่ ผมจึงต้องอยู่ประจำการในสวนเพื่อให้อาหารหมา
งานนี้ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อยและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงมาก
หมาแจ็ครัสเซล 3 ตัวถือว่าไม่ยาก
เพราะมันไม่ดุและนอนอยู่ที่ระเบียงบ้านเช่นเดียวกับเจ้าฟู และหมาโกลเด้นฯ ถัดออกไปจากรัศมีบ้านประมาณหนึ่งช่วงรัศมีตด
จะมีหมาบางแก้วมารอผมให้อาหาร
เทคนิคในงานนี้ก็คือผมจะต้องให้อาหารตัวที่ดุที่สุดก่อนเพื่อไม่ให้มันไปแย่งตัวอื่นกิน
จากนั้นจึงรีบไปให้ตัวที่เหลือ หมาพวกนี้ดุมาก
ขนาดเอาอาหารไปให้ยังไม่วายแยกเขี้ยวใส่ผม
ส่วนเจ้าหมีซึ่งเป็นแม่เจ้าฟูไม่สามารถเข้ามาในบริเวณบ้านได้เลย
เพราะจะถูกหมาบางแก้วกัด
ผมจึงต้องเดินเอาอาหารไปให้ที่เรือนเพาะชำซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร!
**********************************************
โรงหมักปุ๋ย
ก่อนที่ญาติจะไปกรุงเทพฯ
แกเอานิตยสารเล่มหนึ่งมาให้ยืม บอกว่าถ้าสนใจทำเกษตรอินทรีย์จริง ๆ
ลองไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์สิ...
“ปุ๋ยเคมีมันมีแต่ N P K แต่พืชต้องการธาตุอาหาร 20 กว่าชนิด
ให้อยู่แค่นั้น ทำไปนาน ๆ ดินมันก็พังสิ...” (อ้างอิงจากความทรงจำของผม)
เหยด...ง่าย ๆ แต่ใช่เลย
ผมอ่านคอลัมน์นั้นจนจบ ชื่อศูนย์ฯ
มาบเอื้องนั้นคุ้นหูผมมาก แต่ผมนึกไม่ออกว่าเคยได้ยินมาจากที่ไหน ก่อนจบคอลัมน์ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลติดต่อสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้ารับการอบรม แต่พอเห็นรูปผู้เข้าอบรมที่ต้องมายืนเข้าแถวผูกผ้าพันคอก็ทำให้ผมยังไม่คิดจะไป...
รีบทำโรงหมักปุ๋ยให้เสร็จดีกว่า
หลังจากที่ร่างแบบคร่าว ๆ
ในกระดาษเสร็จผมก็เริ่มตัดไผ่ตงมาทำเสา ผมต้องการให้หลังคาเป็นทรงเห็ดและมุงด้วยจากเพื่อให้งานดูเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด
จะว่าไปตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยมั่นใจว่างานหลังคาจะออกมายังไงเพราะไม่เคยทำมาก่อน
แต่ก็ลงมือทำเพราะเกรงว่าถ้ามัวแต่คิดก็คงจะไม่ได้เริ่มเสียที
ผมทำโครงสร้างหลักด้วยตัวคนเดียว
ระหว่างทำงานบางครั้งก็รู้สึกวังเวง เพราะเป็นมนุษย์คนเดียวที่อยู่ในสวนในช่วงนั้น
แต่ก็มีเจ้าฟูมาเล่นเป็นเพื่อนคลายเหงา
เวลาไม่กี่วันหลังจากนั้นโครงสร้างหลักก็เสร็จ แม้แต่ตัวผมเองก็ยังงง ๆ
ว่าทำออกมาได้อย่างไร งานนี้ไม่ยากแต่ยุ่งยากเพราะไม่มีใครมาช่วย
แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงทำให้ผมหาทางไปต่อจนได้
งานต่อมาคือวางไม้ระแนงโชคดีที่แฟน
(แอ๊น) แวะมาช่วงนั้นพอดีทำให้ผมไม้ต้องปีนขึ้นปีนลงหลายรอบ
จากนั้นผมซื้อใบจากมามุงเพราะมันถูกกว่าหญ้าคา งานนี้หมดไป ๗๕๐ บาท...แพงกว่ากระเบื้องซะงั้น
ผมให้คนงานของญาติมามุงหลังคาให้เพราะจะต้องทำงานอื่น ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังนั้นโรงหมักปุ๋ยก็พร้อมใช้งาน
**********************************************
ย้อนเวลามาซักนิด
ก่อนที่จะทำโรงหมักปุ๋ยผมได้นำดินไปตรวจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ครั้งแรกผมเอาตัวอย่างดินไปส่งที่กรมพัฒนาที่ดินในท้องที่
ซึ่งผมได้ถั่วพร้าเป็นของแถมกลับมา แต่สิ่งที่อยากได้ที่กว่านั้น (ผลตรวจ)
ไม่เคยมาถึงมือผม....ดูท่าจะไม่ดี
ผมจึงเก็บตัวอย่างดินอีกครั้งแล้วนำไปส่งที่สถานีวิจัยพืชสวนที่จันทบุรี
ความยากไม่ใช่การเก็บดินหรือตรวจ
แต่คือการโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ยอมส่งผลตรวจมาที่บ้านกรุงเทพของผมซึ่งอยู่นอกพื้นที่บริการของสถานีวิจัย
ถ้าไปรษณีย์มาส่งถึงสวนอะไร
ๆ ก็คงจะง่ายกว่านี้มาก
หลายเดือนหลังจากนั้นผลตรวจส่งมาถึงบ้าน
ผมตรวจมาเป็นตัวเลขแห้ง ๆ ซึ่งผมในตอนนั้นก็ไม่มีปัญญาจะแปลความหมาย (ยกเว้นค่า pH) ผมจึงโทรไปสอบถามจากสถานีวิจัยฯ
ก่อนได้คำตอบว่า ดินในสวนมีว่าเป็นกรดมาก (pH 4.3) ค่าอินทรียวัตถุต่ำ
แคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำ ในขณะที่ค่าฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม
(K) สูงมาก (ประมาณสามเท่าของที่พืชต้องการ
ซึ่งเกิดจาการใช้ปุ๋ยเคมีต่อติดต่อกันเป็นเวลานาน)
แม้ดินจะเป็นกรดอย่างมาก
แต่ค่า P และ K
ที่สูงทำให้ผมคลายความกังวลไปได้ว่าพืชจะขาดธาตุอาหารหากเปลี่ยนมาทำอินทรีย์
(คือผมไม่มีเงินมากมายที่จะซื้อมูลสัตว์มาใส่แทนปุ๋ยเคมี) สิ่งที่ต้องทำคือลดความเป็นกรดของดินเพื่อให้พืชสามารถนำแร่ธาตุในดินมาใช้ได้
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าผมไม่ได้รับผลการตรวจดินจากกรมพัฒนาที่ดิน
ดังนั้นผมจึงไม่สามารถที่จะขอปูนเพื่อมาปรับสภาพดินได้ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมไปซื้อปูนโดโลไมท์มาจากร้านขายอาหารอาหารกุ้งในเมือง
โดโลไมท์หาได้ไม่ยากเพราะที่นี่มาการเลี้ยงกุ้งกันมาก
เมื่อคำนวนแล้วงานนี้ผมต้องใช้ปูน ๓ ตันครึ่ง ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ ๗,๐๐๐ บาท
ปูนถุงหนึ่งหนัก ๒๕ กิโลกรัม ผมต้องการใส่รอบโคนต้นละ ๘ กิโลกรัม ดังนั้นในช่วงแรกผมจึงต้องเอาตราชั่งมาไว้แถวนั้น
ทำไปซักพักผมก็พบภาชนะที่ตวงได้น้ำหนัก ๘ กิโลพอดี ทำให้ไม่ต้องใช้ตราชั่งอีกต่อไป
(ปูนโดโลไมท์ที่ถูกโรยอยู่บนหน้าดิน)
กว่าจะเสร็จก็เล่นเอามึนเพราะผมต้องทำประทักษิณเพื่อโรยแป้งให้กระจายรอบโคนต้นมังคุดทุกต้น
แปลงมังคุดที่ปลูกเชิงเดียวมันดูเหมือนกันไปหมด เดินตรง ๆ ยังงง แล้วเดินวนจะไปเหลืออะไร
ช่วงวันหยุดแอ๊นผมมาช่วยอีกเช่นเคย เราจึงแบ่งกันทำคนละแถว
ช่วงปลายแถวมังคุดจะเปลี่ยวมากเพราะมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่มังคุด
แฟนบอกเจ้าฟูว่าให้อยู่เป็นเพื่อนหน่อยแล้วมันก็นั่งอยู่ตรงนั้น
เสร็จงานนี้ผมกลับมาตัดหญ้าตรงป่าที่ผมปลูกใหม่
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากที่ปลูกไปไม่กี่เดือนหญ้าก็ขึ้นท่วมแปลง แถมกล้าไม้บางต้นก็ถูกเถาวัลย์พันจนเสียทรง
การหญ้าด้วยรถแทรกเตอร์จึงทำให้ไม้ป่าของผมเสียหายไปพอสมควรเพราะหากรถไปเกี่ยวเอาเถาวัลย์ที่พันต้นอยู่ต้นไม้ก็จะถูกถึงตามรถไป
บางครั้งผมก็ขับชนต้นไม้เพราะมองไม่เห็นหลังไม่ไผ่ที่ปักเอาไว้เนื่องจากหญ้าสูงมาก
หลังจากนั้นพวกเราก็เข้าไปถางหญ้าและเถาวัลย์รอบโคนต้นด้วยมีดขอ มีต้นไม้ที่ไม่รอดจำนวนหนึ่งเราจึงรีบปลูกซ่อมให้เร็วที่สุดก่อนที่ฝนจะหมด
**********************************************
ปลายฝนต้นหนาว
ผมกลับมาตัดหญ้าที่แปลงมังคุดอีกครั้งด้วยตัวเอง
คราวนี้ผมมีอาวุธใหม่สองชิ้นคือ เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายสี่จังหวะ
และเครื่องตัดหญ้ารถเข็นแบบ Off
Road
สาเหตุที่ผมต้องซื้ออาวุธใหม่ก็คือผมไม่ต้องการจะทนกลิ่นเหม็นและความหนวกหูจากเครื่อง
๒ จังหวะ อุตส่าห์หนีเมืองมาสวนแล้วจะมาดมควันเชี่ยนี่อีกทำไม
สตาร์ทกว่าจะติดก็ชาตินึงแถมเวลาใช้ก็จะต้องเสียเวลาผสมออโต้ลูปอีก
เครื่องดับง่ายมาก ตะแคงนิดเอียงหน่อยก็ดับแล้ว ซึ่งจะต้องเสียเวลาถอดออกมาสตาร์ทเครื่องใหม่อีก
จะว่าไปเครื่องนี้ก็ซื้อมาถูก ๆ ถ้าจำไม่ผิดคือ ๒ พันกว่าบาท แต่บทเรียนที่ได้คือเครื่องมือบางอย่างควรซื้อของที่ได้มาตรฐานไปเลยดีกว่า
(มังคุดที่แตกใบในช่วงปลายฝน)
การตัดหญ้าใช้เวลาไปเกือบสามอาทิตย์ต่างจากการพ่นยาที่ให้เวลาเพียงวันเดียวอยู่มากโข
แต่ผมก็เต็มใจและพอใจที่จะทำแบบนี้ หลังจากนั้นผมก็เริ่มงานต่อไปทันทีซึ่งเป็นงานที่สำคัญมากและเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางบนถนนสายนี้นั่นก็คือ
การห่มดิน
ผมคราดเอาหญ้าที่ถูกตัดในบริเวณนั้นมาคลุมโคนต้นมังคุด
ตรรกะง่าย ๆ ของผมก็คือคลุมให้โคนไม่ให้โดนแดดโดยตรง
ช่วยลดการระเหยของน้ำเพื่อให้รากแตกออกมามาก ๆ
และตัวฟางเองก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย
เช่นเดียวกับทุกงานหลักแอ๊นมาช่วยผมในวันหยุด คราวนี้ผมบ่นเป็นหมีกินผึ้งว่าคลุมดินไม่ได้เรื่องเลยให้ไปทำใหม่แอ๊นทำหน้างง
ๆ ว่ามันจะสำคัญอะไรนักหนา
ระหว่างการห่มดินผมพบว่ารากมังคุดแทงขึ้นมาที่หน้าดินเต็มไปหมด
ซึ่งเป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยคอกเมื่อต้นฤดูฝนและการปล่อยให้ใบไม้คลุมหน้าดิน
กระบวนการนี้ทำให้ผมมีกำลังใจมากขึ้นและมั่นใจว่าการห่มดินเป็นแนวทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับธรรมชาติ
หญ้าในสวนโตเร็วมากเพราะที่นั่นฝนตกชุกปีละ
๘ เดือน และการที่ผมไม่ฉีดยาก็ทำให้หญ้าโตเร็วได้อี๊ก ช่วงฤดูฝนหญ้าขจรจบ หรือ
หญ้าคอมมิวนิสต์ จะสูงถึงสามเมตร
หลายคนเห็นว่านี่คือปัญหาแต่ผมกลับเห็นว่านี่คือสมบัติที่ธรรมชาติมอบให้ ผมปล่อยให้หญ้านอกแปลงมังคุดโตเต็มที่และตัดมาทำปุ๋ยพืชสด
หญ้าเยอะมากจนผมต้องเอากระบะไปขนมาหลายเที่ยว ผมเอาหญ้ามากองรวมกันแล้วรดด้วยน้ำหมักโดยที่ใส่มูลสัตว์ผสมลงไปเพียงเล็กน้อยเพราะไม่มีเงิน
ใจหนึ่งก็กลัวว่าพืชจะขาดแร่ธาตุ เลยปลอบใจตัวเองว่า “วัวแม่งก็กินแต่หญ้าละน่า
เอาหญ้าสดมาหมักพืชก็จะได้เต็ม ๆ เลย
ไม่ต้องเสียแร่ธาตุไปให้วัว...ผลตรวจดินก็บอกว่าแร่ธาตุตกค้างเยอะอยู่แล้ว”
**********************************************
กล้า
ๆ กลัว ๆ และกำลังใจ
ฤดูฝนหมดไปพร้อมกับเงินเก็บของผม
แม้จะมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก แต่พอไม่มีเงินจริง ๆ ใจมันก็หวิว ๆ
อยู่เหมือนกัน
ด้วยความที่เป็นไม้ผล ผมไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าผลผลิตจะออกเมื่อไร
มากน้อยเพียงไร จะว่าไปมันก็เหมือนกับอุโมงที่มองไม่เห็นปลายทาง...
ผมได้คุยกับพี่คนหนึ่งที่ผมรู้จักสมัยทำงานที่เกาะ
แกอิ่มตัวจากการทำงานเลยไปเป็นอาสาสมัครอยู่กับพี่โจน จันได ที่พันพรรณ
แกบอกว่าดีมากจึงแนะนำให้ผมไปที่นั่นเพราะน่าจะเป็นแนวทางให้กับผมได้
แกบอกให้ผมลองสมัครเป็นอาสาในคอร์สบ้านดินดู ผมสนใจมาก
แต่ด้วยความที่เป็นคอร์สยาวและช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมจะต้องควบคุมการให้น้ำอย่างใกล้ชิด
ผมจึงขอสมัครเป็นอาสาประมาณ ๑๐ วัน
หลังจากนั้นไม่นานทางศูนย์แจ้งว่าอยากได้อาสาที่อยู่ได้เต็มกระบวนการมากกว่า
การเดินทางของผมจึงยังไม่ถึงพันพรรณ
ผ่านไปซักพักทางพันพรรณส่งข้อความมาให้ผมว่าตอนนี้ทางพันพรรณจะมาจัดอบรมร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
ในหลักสูตร “กินกะยักษ์พักกะโจน” และแนะนำให้ผมลองสมัครดู
ผมสมัครทันทีโดยไม่ต้องคิด ซึ่งใครจะรู้ว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะทำให้ผมมองเห็นแสงปลายอุโมงของการเดินทางบนถนนสู่ความพอเพียง
โปรดติดตามตอนต่อไป